อาลัยครู“เสนาะ หลวงสุนทร” ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตในวัย 88 ปี

22 พ.ย. 2565 | 14:58 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2565 | 23:35 น.
625

อาลัยครู “เสนาะ หลวงสุนทร” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ครูดนตรีไทยผู้สืบทอดดนตรีไทยโดยสายเลือดจากครูบาง หลวงสุนทร ผู้เป็นบิดา ทางระนาดเอก และปี่ใน เสียชีวิตแล้ว เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ ในวัย 88 ปี

วันนี้ ( 22 พฤศจิกายน 2565) “เสนาะ หลวงสุนทรศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปี 2555  ถึงแก่กรรม เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ สิริอายุรวม 88  ปี โดยงานสวดพระอภิธรรมศพ จะมีขึ้นที่ วัดบางเพ็งใต้ (ตลาดน้ำขวัญเรียม) ซอยรามคำแหง 183  มีนบุรี กรุงเทพมหานคร พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในเวลา 17.30 น. ในวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2565

 

เสนาะ หลวงสุนทร

 "เสนาะ หลวงสุนทร” เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปี 2555  เป็นครูดนตรีไทยผู้สืบทอดดนตรีไทยโดยสายเลือดจากครูบาง หลวงสุนทร ผู้เป็นบิดา ทางระนาดเอก และปี่ใน เริ่มเรียนดนตรีไทยกับคุณตาถม เจริญผล และยังได้เรียนดนตรีไทย เป็นศิษย์สายตรงกับครูดนตรีไทยหลายท่าน เช่น ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ครูเผือด นักระนาด ครูกมล (เจียน) มาลัยมาลย์ ครูสาลี มาลัยมาลย์ ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นต้น

ท่านเป็นชาวสมุทรสาครโดยกำเนิด สำเร็จมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดพระยาทํา กรุงเทพมหานคร ต่อมาสําเร็จหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธศึกษาทหารบก เข้ารับราชการทหารที่กองดุริยางค์ทหารบกและโรงเรียน ดุริยางค์ทหารบก จนเกษียณอายุราชการ

 

พันโทเสนาะ ท่านคือครูผู้เชี่ยวชาญในวิชาดนตรีไทย ทั้งทางทฤษฎี การปฏิบัติ และการประพันธ์เพลง มีความแตกฉานในศาสตร์แห่งดนตรีไทยอย่างลึกซึ้ง มีความสามารถสูงในการบรรเลงระนาดเอกอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการบรรเลงเดี่ยวระนาดเอกที่ได้รับการถ่ายทอดและฝึกฝนจากครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และได้รับมอบให้เป็นผู้อ่านโองการไหว้ครูดนตรีไทยจากครูประสิทธิ์ ถาวร และครูบุญยัง เกตุคง

 

ท่านยังได้ศึกษาเรียนรู้ด้านทฤษฎีและการปฏิบัติเครื่องดนตรีสากล รวมถึงการเรียบเรียงเสียงประสาน พันโทเสนาะ ท่านได้สร้างผลงาน การบรรเลงไว้ในหลายรูปแบบ เช่น การประชันวงในโอกาสต่าง ๆ การบันทึกเสียงเพลงเดี่ยวระนาดเอกที่บันทึกโดยนายเดวิด มอร์ตัน ในปี 2510 ชุดเพลงดีที่บ้านบาตร เป็นต้น และยังมีผลงานการเข้าร่วมวงดนตรีสากลและวงดนตรีลูกทุ่ง อีกด้วย

 

จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาถือได้ว่า ท่านเป็นผู้ถึงพร้อมทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ ทั้งในทางดนตรีไทยและดนตรีสากลไปพร้อมกันอีกด้วย ทั้งได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีไทยให้กับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ภายหลังเกษียณอายุราชการแล้ว พันโทเสนาะ หลวงสุนทร ยังได้ทุ่มเท เวลาส่วนใหญ่กับการบันทึกบทเพลง ทั้งบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเอง ประมาณ 40 เพลง และบทเพลงที่ได้รับการถ่ายทอด จากครูต่าง ๆ ประมาณ 500 เพลง เป็นโน้ตสากล เพื่อมอบให้เป็นสมบัติของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งหลาย อีกทั้งเป็นการเผยแพร่และฝากไว้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลังสืบไป