“รฟม.” หยุดให้บริการ MRT สถานีศูนย์สิริกิติ์ เริ่ม 16 – 19 พ.ย.นี้

09 พ.ย. 2565 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2565 | 00:02 น.

รถไฟฟ้า MRT เตรียมพร้อมมาตรการรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และแจ้งงดให้บริการสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2565

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัด บูรณาการทำงานและเตรียมความพร้อม การดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2565 นั้น  ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ได้เตรียมพร้อมมาตรการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า MRT ทั้ง 2 สาย รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทุกโครงการของ รฟม. เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน และผู้เข้าร่วมการประชุม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 

 

ทั้งนี้รฟม.จะดำเนินการปิดรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และงดบริการรับ - ส่งผู้โดยสารที่สถานีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค พ.ศ.2565 ครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 2/2565) 
 

ขณะเดียวกันผู้โดยสารยังสามารถใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินในสถานีอื่น ๆ ได้ตามปกติ โดยประชาชนที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าพื้นที่บริเวณดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีรถโดยสารบริการรับ - ส่ง บนถนนรัชดาภิเษก บริเวณแยกพระรามที่ 4 ใกล้สถานีรถไฟฟ้าคลองเตย และแยกอโศกมนตรี บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิท แบบไม่คิดค่าบริการ เพื่อลดผลกระทบและให้บริการประชาชน ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 

“รฟม.” หยุดให้บริการ MRT สถานีศูนย์สิริกิติ์ เริ่ม 16 – 19 พ.ย.นี้

สำหรับจุดหยุดรับ - ส่ง ผู้โดยสารระหว่างทางทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ 

จุดหยุดรถที่ 1 : หน้าโรงแรมโมเดน่า บาย เฟรเซอร์ กรุงเทพฯ 
จุดหยุดรถที่ 2 : ป้ายรถโดยสารประจำทางตรงข้ามอาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ 
จุดหยุดรถที่ 3 : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)
จุดหยุดรถที่ 4 : หน้าอาคาร Exchange Tower ฝั่งถนนรัชดาภิเษก 

รายงานข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า รฟม.จะปิดให้บริการลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการลานจอดรถได้ที่สถานีใกล้เคียง ได้แก่ ลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้าเพชรบุรี และลานจอดรถสถานีสถานีรถไฟฟ้าสามย่านได้ตามปกติ
 

ด้านมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า โดย รฟม. ได้ประสานงานร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ในการจัดเตรียมความพร้อมของพนักงานและอุปกรณ์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้พร้อมสำหรับให้บริการประชาชน โดยเฉพาะในสถานีที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ได้แก่ สถานีหลักสอง สถานีหัวลำโพง สถานีสีลม สถานีสุขุมวิท สถานีสวนจตุจักร สถานีบางซื่อ สถานีเตาปูน และสถานีตลาดบางใหญ่ รวมถึงให้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตรา สอดส่องดูแล สังเกตบุคคลที่ต้องสงสัยและพฤติกรรมของชาวต่างชาติ ตลอดจนสัมภาระที่ผู้ใช้บริการนำติดตัวเข้ามาในระบบรถไฟฟ้า

“รฟม.” หยุดให้บริการ MRT สถานีศูนย์สิริกิติ์ เริ่ม 16 – 19 พ.ย.นี้
ส่วนมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โดย รฟม. ได้กำชับให้ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างของโครงการและผู้รับจ้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทุกโครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ

 

นอกจากนี้เน้นย้ำให้ผู้รับจ้างงานโยธาทั้ง 4 โครงการ ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจสอบและจัดสภาพหน้างานให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เช่น การปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้างและช่องเปิดต่าง ๆ การจัดเก็บอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรให้เรียบร้อยและปลอดภัยไม่กีดขวางการจราจร การจัดแนวแบริเออร์ให้เป็นระเบียบ ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายทางเบี่ยง ทางเลี่ยง และปิดกั้นแนวรั้วคอนกรีตบริเวณจุดที่เป็นอันตรายให้เรียบร้อย รวมถึงการติดตั้งไฟส่องสว่างให้ชัดเจน การตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า และการจัดเก็บวัตถุไวไฟหรือสารไวไฟให้ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและจัดเตรียมอุปกรณ์ด้านจราจร เพื่อเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น