วันที่ 8 พ.ย. 65 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ถ่ายทอดสด ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 คืนวันลอยกระทง ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 18:00 น. เป็นต้นไป หรือ คลิกที่นี่
ปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง"เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15:02 - 20:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
ประเทศไทย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป ช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที
3 เหตุผลที่ต้องชม "จันทรุปราคาเต็มดวงเหนือฟ้าเมืองไทย” ในวันที่ 8 พ.ย. 65
1.ตรงกับวันลอยกระทง
นานทีมีหนที่ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองพอดี หมายความว่า คนไทยทั้งประเทศจะได้ฉลองวันลอยกระทงไปพร้อมกับดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐ ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ นับเป็นโอกาสที่พิเศษมากเลยทีเดียว และพิเศษสุดกับพวกเราชาว NARIT ที่จัดกิจกรรมลอยกระทงชมจันทร์สีแดงอิฐแบบเฉพาะกิจ แต่งชุดไทยเก๋ ๆ มาชมจันทรุปราคาด้วยกันที่หอดูดาว พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา
2.เห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐตั้งแต่โผล่พ้นจากขอบฟ้า
จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าขณะอยู่ในช่วงคราสเต็มดวงพอดี หรือก็คือดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง ทำให้เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ (ช่วงเวลาเกิดคราสเต็มดวงที่สังเกตได้ในไทย ประมาณ 17:44 - 18:41 น. รวมระยะเวลา 57 นาที) จากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงามืดเข้าสู่เงามัวของโลก เกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน จะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งบางส่วน และเมื่อดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกทั้งดวง จะเกิดเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีความสว่างลดลงเล็กน้อย ก่อนสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 20:56 น. เมื่อดวงจันทร์โคจรออกจากเงาของโลกหมดทั้งดวง
3.ชมได้อีกที 3 ปีข้างหน้า
หลังจากนี้จะไม่มีปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในประเทศไทยไปอีก 3 ปี จะได้ชมดวงจันทร์สีแดงอิฐทั้งดวงแบบนี้อีกทีคือวันที่ 8 กันยายน 2568
ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ