“กรมขนส่ง” แนะ 5 ข้อ ตรวจสอบป้ายทะเบียนรถปลอม เช็คที่นี่

30 ต.ค. 2565 | 08:52 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2565 | 15:56 น.
2.0 k

“กรมขนส่ง” แนะ 5 ข้อ ตรวจสอบป้ายทะเบียนปลอม เตือนผู้ปลอมป้ายทะเบียนมีโทษหนักจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท ย้ำเจ้าของรถป้ายแดง ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 30 วัน

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีเซลล์จากบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถแห่งหนึ่งได้ทำการขายรถยนต์ให้กับลูกค้า แต่กลับนำป้ายแดงปลอมมาติดให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ารายดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อนำรถไปใช้ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปในวงกว้าง ประกอบกับในปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพได้นำป้ายแดงปลอมมาขายตามอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นป้ายทะเบียนที่ไม่ได้ออกให้ โดยกรมการขนส่งทางบก และไม่ใช่ป้ายแดงที่ถูกต้องอยู่ในความครอบครองของบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ เครื่องหมายป้ายแดง ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก 

 

 

 


นายเสกสม กล่าวต่อว่า  กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอชี้แจงว่า ป้ายแดง คือ ป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกออกให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต ใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซม และอนุโลมให้ใช้ได้ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนรถ ไม่เกิน 30 วัน จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อป้ายแดงในอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ป้ายแดง ถือเป็นเอกสารของทางราชการ กรมการขนส่งทางบกเตือนผู้ที่ปลอมป้ายทะเบียน หรือผู้ที่นำป้ายแดงปลอมไปติดรถ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์กับตัวแทนจำหน่ายรถและต้องการตรวจสอบป้ายทะเบียนด้วยตัวเองว่าเป็นป้ายที่ถูกต้องหรือไม่
1. ป้ายแดงที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น สามารถสังเกตได้จากตัวย่อนูน ขส ที่มุมด้านล่างขวา 
2.ต้องมีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก (รูปมาตุลีเทพบุตรขับรถเทียมม้า) ปรากฏในแผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่กำหนดไว้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกออกให้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถสำหรับใช้ติดรถเพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น 

 

 


3.แต่ละบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถจะมีหมวดและหมายเลขป้ายแดงหมุนเวียนต้องใช้คู่กับสมุดคู่มือประจำรถและใบอนุญาตให้ใช้รถด้วย 
4.ผู้ใช้รถป้ายแดงต้องจดบันทึกข้อมูลการใช้รถลงในสมุดคู่มือประจำรถ
5.ข้อมูลดังกล่าวได้แก่ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ ชื่อชนิดรถ เลขหมายตัวถัง เลขหมายเครื่องยนต์ ความประสงค์ใน
การขับรถยนต์ วันเดือนปีและระยะเวลาที่นำรถออกไปใช้
 

“กรมขนส่ง” แนะ 5 ข้อ ตรวจสอบป้ายทะเบียนรถปลอม เช็คที่นี่

 

ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบก แนะผู้ซื้อรถตรวจสอบจำนวนวันการใช้รถขณะติดป้ายแดงต้องไม่เกิน 30 วัน นับจากวันรับรถ หากเจ้าของรถนำป้ายแดงไปใช้เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ดำเนินการนำรถไปจดทะเบียนให้แล้วเสร็จ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ฐานใช้รถโดยไม่จดทะเบียนหรือใช้ป้ายแดงผิดเงื่อนไขมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ย้ำให้เจ้าของรถป้ายแดง ที่ยังไม่จดทะเบียน รีบจดทะเบียนรถให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหากรณีถูกโจรกรรมซึ่งยากต่อการติดตามตรวจสอบ