ถอดสาระสำคัญ กฎหมายคุมทำผิดซ้ำคดีทางเพศ-ใช้ความรุนแรง เจอโทษอ่วม

27 ต.ค. 2565 | 09:41 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2565 | 16:52 น.
909

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้ 21 ม.ค. 2566 ฝ่าฝืนเจอโทษอ่วม

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2565 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

กฎหมายนี้ ตราขึ้นเพื่อป้องกัน เฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม และสร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ปัญหา และลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ

สำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 มีดังต่อไปนี้

 

กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด

 

คือ คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิด ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะ อีกชุดคือ คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ เช่น กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เป็นต้น

 

มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

 

เช่น พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ ด้วยมาตรการทางการแพทย์ เช่น การใช้ฮอร์โมน หรือมาตรการอื่นๆ ที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง

 

โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ และสาขาอายุรศาสตร์ ต้องมีความเห็นพ้องกัน โดยกระทำได้เมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งสามารถนำมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษได้ด้วย

ในส่วนของ มาตรการทางการแพทย์นั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ วันที่ 12 มี.ค. 2565  ว่า “มาตรการทางการแพทย์ ที่มีส่วนในการป้องกันผู้ต้องหาที่ได้กระทำผิดซ้ำนั้น เช่น การใช้ยา การฉีดฮอร์โมนลดความต้องการทางเพศ หรือ ฉีดให้ไข่ฝ่อ โดยมาตรการทางการแพทย์"

 

มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ

 

หากมีเหตุให้เชื่อว่านักโทษเด็ดขาดจะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษได้ 
มาตรการดังกล่าว ได้แก่

  • ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิด
  • ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
  • ห้ามเข้าเขตกำหนด
  • ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
  • ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย
  • ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด
  • ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนด หรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัดภายใต้การดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขตามที่ศาลเห็นสมควร
  • ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน หรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัย หรือสถานบำบัด
  • ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ หรือได้รับการเยี่ยมจากพนักงานคุมประพฤติ หรืออาสาสมัครคุมประพฤติ หรือเจ้าหน้าที่อื่นตามระยะเวลาที่กำหนด

 

มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ

 

ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่นักโทษเด็ดขาด
หากศาลเห็นว่ามีเหตุเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำ และไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันไม่ให้ไปกระทำความผิดได้


การคุมขังฉุกเฉิน

 

กรณีมีเหตุเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะกระทำความผิด และมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นที่อาจป้องกันไม่ให้ผู้ถูกเฝ้าระวังกระทำความผิดได้ เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

 

ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวไปใช้บังคับกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล รวมถึงกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นผู้กระท้าความผิดตามที่กำหนดอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับด้วย

ถอดสาระสำคัญ กฎหมายคุมทำผิดซ้ำคดีทางเพศ-ใช้ความรุนแรง เจอโทษอ่วม

นางสาว รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่มาของการออกกฎหมายฉบับนี้ว่า เนื่องจากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม พบว่า ผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้ว จะกระทำความผิดซ้ำในระยะเวลา 3 ปี มากกว่าร้อยละ 50 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้น 

 

อ่านฉบับเต็ม : พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565