คณะกรรมการ MIU สธ. เสนอ 5 ประเด็นสำคัญถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ.

09 ต.ค. 2565 | 14:47 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2565 | 21:56 น.

คกก.MIU สธ. เสนอ 5 ประเด็นสำคัญถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไป อบจ. ต้องให้บริการประชาชนไม่ต่างจากเดิม ส่งมอบข้อมูลให้ อบจ.จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ รพ.แม่ข่าย ให้การสนับสนุนเท่าเทียม รพ.สต.ที่ยังไม่ถ่ายโอน กำกับให้มีบุคลากรขั้นต่ำตามกำหนด และจัดสรรงบประมาณตามขนาด

วันนี้ (9 ตุลาคม 2565) นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) และประธานคณะกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุข ด้านถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยว่า จากการศึกษาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ

คณะกรรมการ MIU สธ. เสนอ 5 ประเด็นสำคัญถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ.

1.การให้บริการ ต้องให้บริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพไม่น้อยกว่าเดิม มีบุคลากรตามเดิม ในช่วงแรกโรงพยาบาลแม่ข่ายเดิมยังสนับสนุนแพทย์ เภสัชกร บุคลากรอื่นที่ให้บริการแก่ รพ.สต. หากช่วงแรก อบจ.ยังไม่มีวิชาชีพต่างๆ ที่จำเป็น โดยที่ อบจ. ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ต้องเน้นประเด็นนี้เพื่อให้ รพ.สต. ยังให้บริการได้ตามเดิม ในระยะยาวต่อเนื่อง

 

2.เรื่องโครงสร้าง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดเตรียมและส่งมอบข้อมูลภารกิจ งบประมาณ อัตรากำลัง และพัสดุครุภัณฑ์ ของ สอน./รพ.สต. เพื่อให้ อบจ. จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ แผนพัฒนาท้องถิ่นและข้อบัญญัติงบประมาณ ตามกรอบระยะเวลาที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยพัสดุครุภัณฑ์ที่เป็นของ รพ.สต.อยู่เดิม ควรถ่ายโอนไปทั้งหมด

3.การสนับสนุน ควรทำความเข้าใจกับหน่วยบริการประจำแม่ข่ายของเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (CUP) ทั้งการจัดสรรงบประมาณ การสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ บุคลากร ให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกับหน่วยบริการปฐมภูมิในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และควรแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินบำรุง เพื่อการปฏิบัติราชการของหน่วยบริการอื่น พ.ศ.2544 ให้จ่ายเงินบำรุงให้ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วได้ แต่ขึ้นกับการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมถึงควรมีข้อตกลงและระเบียบที่ชัดเจนในการสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ และบุคลากรข้ามกระทรวง

 

4.เรื่องบุคลากร ควรกำกับท้องถิ่นให้บริหารจัดการให้มีบุคลากรขั้นต่ำตามที่กำหนด โดย สอน.หรือ รพ.สต.ขนาดเล็ก รับผิดชอบประชากรน้อยกว่า 3,000 คน มีบุคลากร 7 อัตรา, ประชากร 3,000 - 8,000 คน มีบุคลากร 12 อัตรา และประชากรมากกว่า 8,000 คน มีบุคลากร 14 อัตรา

 

และ 5.งบประมาณ เสนอว่ารายได้จากหน่วยบริการประจำแม่ข่ายที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก สปสช. ที่จัดสรรให้ตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละเครือข่ายได้ทำข้อตกลงกำหนดไว้ ต้องไม่แตกต่างจากแนวทางการจัดสรรงบประมาณก่อนการถ่ายโอน มีความเสมอภาคและเท่าเทียม และให้สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน ขนาดเล็ก 1 ล้านบาท/ปี ขนาดกลาง 1.5 ล้านบาท/ปี และขนาดใหญ่ 5 ล้านบาท/ปี โดยต้องวางแผนให้ รพ.สต. และ อปท.ทราบ เพื่อจะได้เตรียมงบประมาณในอนาคตและบริหารจัดการได้

 

สิ่งสำคัญคือ มาตรฐานและคุณภาพของระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพประชาชนต้องไม่แตกต่างจากเดิมก่อนการถ่ายโอนฯ รวมถึงการทำงานร่วมกันที่สอดประสานปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางสาธารณสุขระดับชาติเพื่อประโยชน์สุงสุดของประชาชน