ดีอีเอส สั่งการอุตุฯ – NT – ไปรษณีย์ฯเตรียมรับมือพายุโนรู

29 ก.ย. 2565 | 11:43 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2565 | 18:56 น.

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส สั่งการกรมอุตุฯ ไปรษณีย์ไทย และ NT เตรียมพร้อมรับมือพายุโนรูบุกไทย โดยใช้แนวทางตามแผนสนับสนุนปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.2 ส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) พร้อมประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเครือข่ายการสื่อสารไม่ให้สะดุด

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส มีความห่วงใยต่อสถานการณ์พายุ โนรู โดยส่งผลให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งอาจมีผลกระทบกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม

 

ดีอีเอส สั่งการอุตุฯ – NT – ไปรษณีย์ฯเตรียมรับมือพายุโนรู

 

ทั้งนี้ รมว.ดีอีเอส ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตามแผนสนับสนุนปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.2 ส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) โดยสั่งการให้กรมอุตุฯ เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น "โนรู (NORU)" เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 65 เพื่อติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

อีกทั้ง ได้มีการประกาศแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบข่าวพยากรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมออกมาเป็นระยะ ในทุกช่องทางตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วน 1182 และ ทุกช่องทางของกรมอุตุนิยมวิทยา

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เตรียมความพร้อมระบบโทรคมนาคม รองรับสถานการณ์ รวมถึงให้จัดเตรียมอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม สนับสนุนการปฏิบัติงานของ หน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้มีการบัญชาการเหตุการณ์ผ่านระบบสื่อสารได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
 

นางสาวนพวรรณ  กล่าวว่า รมว.ดีอีเอส ได้สั่งการให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย (ปณท) รายงานการเฝ้าระวังและติดตามในพื้นที่ โดยให้บุรุษไปรษณีย์ แจ้งผลกระทบในพื้นที่ให้ส่วนกลางรับทราบ

 

กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ประสานไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อแจ้งเตือนสั่งการให้โอเปอร์เรเตอร์ทุกราย ดูแลโครงข่าย คุณภาพสัญญาณการให้บริการ และเตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารรับมือพายุโนรู รวมถึงให้เครือข่ายนักวิทยุสมัครเล่น ติดตามข่าวสารและเตรียมอุปกรณ์สื่อสารเพื่อพร้อมเป็นโครงข่ายสื่อสารสำรองด้วย
 

“เราได้ขอความร่วมมือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เตรียมความพร้อม และรายงานผลกระทบเกี่ยวกับเสาไฟฟ้าล้ม หรือหักโค่น ซึ่งมีระบบสื่อสารพาดผ่าน จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยด่วน” นางสาวนพวรรณกล่าว

 

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จะมีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมระบบการสื่อสารโทรคมนาคมรองรับกรณีพายุโนรู จนเสร็จสิ้นสถานการณ์