จีนทุ่มงบอย่างน้อย 2.3 แสนล้านดอลลาร์ในระยะสิบกว่าปี สร้างอุตสาหกรรมอีวี

24 มิ.ย. 2567 | 13:32 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2567 | 13:52 น.

เบื้องหลังความสำเร็จของรถอีวีจีน ผลศึกษาใหม่ล่าสุดพบว่า ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งใช้เงินกว่า 2.3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 8.44 ล้านล้านบาท ทุ่มสร้างรากฐานและเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ

ข้อมูลของ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ หรือ CSIS (Center for Strategic and International Studies) ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ชี้ว่า รัฐบาลจีนใช้เงินอย่างน้อย 230,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 8.44 ล้านล้านบาท ในระยะมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้าง อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศขึ้นมา ซึ่งขนาดของการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้นคิดเป็น 18.8% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดระหว่างปี 2552 ถึง 2566

สกอตต์ เคนเนดี้ ประธานฝ่ายธุรกิจและเศรษฐศาสตร์จีนของ CSIS กล่าวว่า เมื่อเห็นการให้ความสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีของจีนในเชิงรุกแล้ว หันมามองประเทศตะวันตก จะพบว่า โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และรัฐบาลประเทศตะวันตก ไม่ได้บุกหนักอย่างมีเป้าหมายเช่นนี้ แม้จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางรายก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า อัตราส่วนของการใช้งบอุดหนุนดังกล่าวต่อการขายรถอีวีของจีน ได้ปรับลดลงเป็นลำดับ จากมากกว่า 40% ในช่วงก่อนปี 2560 เหลือเพียง 11% กว่าๆ ในปี 2566 ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นในขณะที่สหภาพยุโรป(อีวี) กำลังมีแผนจะเรียกเก็บภาษีพิเศษจากรถยนต์ไฟฟ้าของจีน หลังมีการไต่สวนแล้วพบว่า รถอีวีนำเข้าจากจีนได้รับเงินอุดหนุนในการผลิตจนสร้างความได้เปรียบในตลาดต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพ.ค. สหรัฐอเมริกาก็เพิ่งประกาศว่า จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนเป็น 100%

เคนเนดี้ชี้ให้เห็นว่า การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีนนั้นไม่ได้มาในรูปของมาตรการทางการเงินเท่านั้น แต่ยังมีความช่วยเหลืออื่นๆที่มอบให้กับบริษัทผู้ผลิตภายในประเทศของจีนเองมากกว่าบริษัทต่างชาติ นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า แม้แต่สหรัฐซึ่งเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่ได้ยื่นเงื่อนไขที่น่าสนใจหรืออำนวยประโยชน์ให้ผู้ผลิตมากเท่ากับหน่วยงานจีน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง

การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีน ไม่ได้มาในรูปของมาตรการทางการเงินเท่านั้น

“มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์และรัฐบาลตะวันตก มักไม่ได้บุกหนักอย่างมีเป้าหมายมากพอ (เมื่อเทียบกับจีน)” เคนเนดีกล่าว

มีช่องโหว่ของมาตรการและยังต้องทำกำไร

ทั้งนี้ ในรายงานที่จัดทำไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เคนเนดี้ได้ระบุถึงความริเริ่มเชิงนโยบาย 7 ประการเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นได้จากรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ยกตัวอย่าง ประการแรก การให้เงินอุดหนุนจากภาครัฐอาจไม่ได้นำไปสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง

อย่างกรณีของจีนพบว่า ในช่วงปีแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมอีวี กระทรวงการคลังจีนพบว่า มีอย่างน้อย 5 บริษัทที่โกงเงินอุดหนุนของรัฐ คิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 1 พันล้านหยวน หรือราว 140 ล้านดอลลาร์

เคนเนดีเปิดเผยว่า บริษัทรถอีวีจีนยังได้ประโยชน์จากกระแสบูมของตลาดรถอีวีในจีนซึ่งรวมถึงการเข้าตลาดของรถอีวีจากต่างประเทศ ที่มาเบียดส่วนแบ่งตลาดของรถใช้เครื่องยนต์ระบบสันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิงและมีแบรนด์รถต่างชาติครองตลาดอยู่ การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด และเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีรายการการศึกษาของธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา ที่แนะนำว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐควรออกมาจากตลาดจีน และไปโฟกัสธุรกิจในประเทศอื่นแทน

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตแบตเตอรี่ของจีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก และไม่สามารถมองข้ามหรือประมาทได้เลย (ในฐานะคู่แข่ง)

ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตแบตเตอรี่ของจีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ไม่สามารถมองข้ามหรือประมาทได้เลย

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ CLSA ชี้ว่า แม้จะได้รับเงินและมาตรการสนับสนุนอย่างมากจากภาครัฐ อีกทั้งตลาดก็มีการเติบโตอย่างมาก แต่บริษัทผู้ผลิตรถอีวีจีนก็ยังต้องทำผลกำไรให้เห็นเป็นรูปธรรม

ยกตัวอย่างบีวายดี (BYD) แม้จะเป็นผู้นำในตลาดรถอีวีจีนและในตลาดระดับโลก แต่กำไรสุทธิต่อคันของบริษัท ลดลงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 739 ดอลลาร์ (ข้อมูลการวิเคราะห์ของ CLSA ณ ไตรมาสแรกของปีนี้) ขณะที่เทสลา รถอีวีรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน กำไรสุทธิต่อคันลดลงเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 2,919 ดอลลาร์

 “ในระบบเศรษฐกิจตลาดที่มีการดำเนินงานที่ดี บริษัทต่างๆ จะประเมินการลงทุนของตนในกำลังการผลิตใหม่อย่างรอบคอบมากขึ้น และการเกิดช่องว่างที่รุนแรงระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ก็อาจส่งผลให้เกิดการรวมตัวของอุตสาหกรรม”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่ผ่านมา เผชิญกับสงครามราคาที่รุนแรงโดยบริษัทรถยนต์ต่างหั่นราคา หรือออกรุ่นใหม่ที่มีราคาต่ำลง ทำให้โอกาสในการทำกำไรลดลงตามไปด้วย

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่ผ่านมา เผชิญกับสงครามราคาที่รุนแรง (ภาพข่าวรอยเตอร์)

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีวีแบรนด์ Nio ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติจีนที่ยังคงขาดทุนอยู่ เปิดเผยเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาว่า มีตัวเลขคาดหมาย บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ประมาณ 10 ราย จะพ่ายแพ้ในตลาดจีน และทำให้เหลือผู้เล่นเพียง 20 ถึง 30 รายเท่านั้น

สำหรับแนวทางรับมือของสหรัฐ นอกจากการเก็บภาษีรถอีวีจีนเพิ่มขึ้นแล้ว สหรัฐยังได้เพิ่มความพยายามในการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ โดยในพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อ หรือ Inflation Reduction Act ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดสรรเงินจำนวน 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาดที่รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า

รายงานของ CLSA ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวให้เครดิต 7,500 ดอลลาร์สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ขณะที่การสนับสนุนโดยเฉลี่ยของจีนต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 4,600 ดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งลดลงจาก 13,860 ดอลลาร์ในปี 2561

 

ข้อมูลอ้างอิง