กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประกาศปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ประจำปี 2566 ใหม่ จากเดิมที่ประมาณการว่าจะผลิตได้ 1,950,000 คัน ก็ลดลงเหลือ 1,900,000 คัน (ลดลง 50,000 คัน) ซึ่งการปรับลดในครั้งนี้เป็นการปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศที่เดิมตั้งไว้ 900,000 คัน ลดเหลือ 850,000 คัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับลดยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศครั้งนี้ เป็นผลมาจาก สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 90.6 ของ GDP
ขณะที่การส่งออกสินค้าอื่นๆของประเทศลดลงติดต่อกันหลายเดือน ทำให้หลายอุตสาหกรรมลดกะการทำงานและลดการทำงานล่วงเวลา คนทำงานขาดรายได้ อำนาจซื้อลดลง
นอกจากนั้นแล้วดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นรวมทั้งค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้มีหนี้และประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น จึงระวังการใช้จ่าย ทำให้อำนาจซื้อลดลง ธุรกิจหลายสาขาชะลอตัวลง เช่น วัสดุก่อสร้าง ร้านสะดวกสบาย supermarket ฯลฯ
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปัจจัยคือ รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมากกว่าร้อยละ 5 โดยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์นำเข้า ไม่ได้ผลิตในประเทศ จึงลดเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศลงประมาณร้อยละห้าของเป้าเดิม
เจาะลึกยอดผลิต-ยอดขาย-ยอดส่งออกรถยนต์ครึ่งปีแรก
จำนวนยอดผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 921,512 คัน เพิ่มขึ้น 5.91 % ขณะที่จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2566 มีทั้งสิ้น 145,557 คัน เพิ่มขึ้น 1.78 %
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2566 มียอดขาย 406,131 คัน ลดลง 4.95 % ด้านยอดขายรถยนต์เดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,440 คัน ลดลง 5.16 %
ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 528,816 คัน เพิ่มขึ้น 17.61 % เฉพาะเดือนมิถุนายน 2566 ส่งออกได้ 88,826 คัน เพิ่มขึ้น 20.22 % โดยสาเหตุที่ยอดส่งออกยังคงเติบโต เป็นผลมาจากผลิตรถยนต์นั่งและรถ PPV เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 27.57 % และ 96.51 % ตามลำดับ จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ
ส่วนรถ EV เดือนมกราคม - มิถุนายน 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 43,045 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - มิถุนายนปีที่แล้วร้อยละ 487.65