ปตท.พัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ผลิตแพลตฟอร์ม EV แบตเตอรี่ Semi Solid

05 ก.ค. 2564 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2564 | 15:44 น.
1.7 k

ปตท.ปรับตัวลุยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และพลังงานไฟฟ้า ผ่านบริษัทลูก และร่วมมือพันธมิตร หวังทำแพลตฟอร์ม EV ขายในระดับแมสให้ลูกค้านำไปออกแบบขึ้นรูปตัวถังเอง ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี มั่นใจเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Semi-Solid ให้ประสิทธิผลดี ทำราคาเข้าถึงได้ง่าย

ตามที่รัฐบาล นำโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน

 

ภายใต้บอร์ดอีวีประกาศนโยบายชัดเจนและขยับแผนการผลิต-การใช้รถพลังงานไฟฟ้า 100% (EV) ให้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าผลิตให้ได้ 30% จากกำลังผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2573 และตั้งธงว่ารถใหม่ที่ขายในไทยทุกคันในปี 2578 ต้องเป็น EV 100% (ตามนโยบายใช้คำว่า ZEV หมายถึงรถพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยมลพิษเลยซึ่งรวมรถประเภทฟิวเซลล์ พลังงานไฮโดรเจน)

 

บริษัทพลังงานแห่งชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดย ปตท.ปรับตัวมุ่งธุรกิจพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรม EV พร้อมบริษัทลูกที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันโกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ที่ออกไปแสวงหาทรัพยากร และเทคโนโลยีนอกประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และไต้หวัน

ปตท.ร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ มีแผนผลิตแพลตฟอร์ม EV ในไทย

 

ขณะที่ข่าวใหญ่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาคือ บมจ. ปตท. ทำ MOU โครงการยานยนต์ไฟฟ้า กับ “ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ไต้หวัน” พัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำมาเป็นพื้นฐานผลิต EV ต่อไป ซึ่งประเด็นนี้มองได้ 2 มุมว่า ปตท.จะทำรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ของตนเอง หรือจะพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ แล้วให้คู่ค้ามาซื้อไปทำเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ของตนเอง (มีแพลตฟอร์ม, แบตเตอรี่, ชุดขับเคลื่อน ตัวประมวลผล ให้เรียบร้อย ลูกค้าซื้อไปออกแบบโครงสร้าง ขึ้นรูปตัวถังได้ตามต้องการ)

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากบริษัทเซ็น MOU กับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) จากไต้หวันโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ หากการเจรจาผ่านไปได้ด้วยดี ปตท.อาจจะมีการตั้งโรงงานผลิต อีวี ที่มีกำลังผลิตประมาณ 1 แสนคันต่อปีในไทย

 

“เรามองว่าหากดำเนินการได้สามารถจะเข้ามาทดแทนวงการผลิตรถยนต์ได้ โดยกำลังศึกษาว่าจะมีการลงทุนในประเทศไทยได้หรือไม่”

 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ ปตท. ดำเนินการจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่,ยานยนต์, โครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็น 4 ส่วนหลักที่ ปตท.ให้ความสนใจ และดำเนินการไปควบคู่กับการรอนโยบายของรัฐบาลให้เข้ามาสนับสนุน

ธุรกิจ EV ของ ปตท.

ด้านธุรกิจแบตเตอรี่ มีการสร้าง Pilot Plant โดยใช้เทคโนโลยีของอเมริกา 24M ซึ่งเป็นบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ โดยปัจจุบันโรงงานกำลังผลิตขนาด 30 MWh ต่อปีเสร็จเรียบร้อย กำลังอยู่ระหว่างการประเมินผลและวิจัยว่าจะขยายเป็นขนาด 1 GWh ได้อย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ปตท.กำลังจะออกแพลตฟอร์มที่รวมเรื่องการบริการของรถยนต์ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มเดียว โดยมองว่าปัจจุบันที่ผู้บริโภคยังไม่อยากซื้อรถไฟฟ้าเพราะมีความไม่แน่นอนอยู่มาก แต่ต้องการทดลองขับ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะให้บริการทั้ง ผู้ที่ต้องการซื้อ เช่า ทดลองขับผ่านแพลตฟอร์มเดียว โดยกำลังจะเปิดตัวภายใน 2 เดือนนี้

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้ามีทำทั้งในสถานีบริการนํ้ามัน และนอกสถานีซึ่งปั๊ม ปตท.ตอนนี้มี 30 แห่ง เป้าสิ้นปีให้ได้ 100 แห่ง และจะเริ่มกระจายจุดไปตามต่างจังหวัด เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าเดินทางไปต่างจังหวัดได้ ส่วนนอกปั๊ม ปตท.จะขยายผ่านบริษัทลูก On-Ion ตั้งเป้าอีก 100 แห่งในปีนี้

ข้อมูลเพิ่มเติมปตท.อุตสาหกรรม EV

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,693 หน้า 18 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม 2564