ไขข้อสงสัย "วันแรงงาน 2567" ทำไมราชการไม่ได้หยุด

30 เม.ย. 2567 | 13:15 น.
1.0 k

วันแรงงาน 2567 เป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศแต่ราชการไม่ได้หยุดในวันนี้ หาคำตอบของที่มาและเหตุผลตามกฎหมายของการหยุดหรือไม่หยุดราชการใน "วันแรงงานแห่งชาติ" นี้ได้

วันแรงงาน 2567 วันแรงงานแห่งชาติ หรือ วันแรงงาน (Labour Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่มีผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานเพื่อเฉลิมฉลองผลงานทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน

ที่มาของวันหยุดวันแรงงาน

สมัยก่อนประเทศยุโรปถือเอา "วันเมย์เดย์" วันเริ่มต้นของเดือนพฤษภาคมเป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม ในวันดังกล่าวจะทำพิธีเฉลิมฉลองบวงสรวงขอให้ปลูกพืชผลได้ดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข นับเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ ให้ถือวันดังกล่าวนี้เป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไปเพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น "วันแรงงานสากล" นับแต่นั้นมาหลายประเทศจึงได้เริ่มฉลองวันแรงงานจนสืบทอดมาถึงในปัจจุบัน รวมถึงประเทศไทยที่ได้มีการกำหนดให้ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" ด้วย  

ทำไมข้าราชการไม่ได้หยุดในวันแรงงาน 2567

ตามนิยามของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 "ข้าราชการ" ไม่ถือเป็นแรงงานประกอบกับวันแรงงานไม่ถือเป็น "วันหยุดราชการ" ดังนั้น หน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงาน ข้าราชการจึงไม่ได้หยุดในวันแรงงานและต้องปฏิบัติหน้าที่ให้บริการตามปกติ

ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้นที่จะได้หยุดซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ว่า นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติและต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเท่ากับวันทำงาน

กรณีถ้าไม่อาจหยุดงานได้เนื่องจากมีลักษณะงานที่จำเป็นหรือต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดงานอาจจะเสียหายแก่งาน เช่น สถานพยาบาล ทำงานโรงแรม เป็นต้น 

ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะให้หยุดชดเชยวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง โดยต้องได้รับเงินเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ