รู้จักที่มา ประเพณี สงกรานต์ 2566 ทำไมต้องมี 3วัน

13 เม.ย. 2566 | 23:34 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2566 | 23:34 น.
1.3 k

สงกรานต์ 2566 เป็นของประเทศอะไร ใช่ประเพณีไทยแท้จริงหรือ ย้อนดูที่มาประเพณีสงกรานต์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พร้อมไขข้อสงสัย ทำไมวันสงกรานต์ต้องมี 3 วัน

สงกรานต์ 2566 วันที่ 13 – 15 เมษายน 2566นี้ นอกจากเป็นวันหยุดยาวตามปฏิทินประเทศไทย ที่ใครหลายคนคงได้เดินทางกลับภูมิลำเนา กลับไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ตามประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทย บ้างก็ออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน แต่ วันสงกรานต์ ยังมีความน่าสนใจให้เรียนรู้อีกมากมาย

ทำไมสงกรานต์ต้องมี 3 วัน

13 – 15 เมษายน ที่ถือเป็นวันสงกรานต์นั้น ในแต่ละวันมีความหมาย และความสำคัญที่แตกต่างกัน โดย วันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวัน"มหาสงกรานต์" หรือ วันเริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันพอดี เพราะโลกโคจรเป็นมุมฉากกับดวงอาทิตย์ ในช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่านจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ ส่วนวันที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันกลาง หรือวันเนา และวันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือวันเถลิงศก 

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา วันมหาสงกรานต์จะตรงกับวันที่ 13 เมษายน แต่กำลังจะเปลี่ยนเป็นวันที่ 14 เมษายน เพราะการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์นั้น วันมหาสงกรานต์จะเลื่อนไป 1 วันทุก ๆ 60 ปีเศษ  ปฏิทินหลวงในปัจจุบันกำหนดให้วันที่ 13 - 15 เมษายน เป็นวันเทศกาลสงกรานต์ แต่วันเถลิงศกยังอาศัยการคำนวณอยู่ บางปีจึงเป็นวันที่ 15 เมษายน และบางปีเป็นวันที่ 16 เมษายน

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์ เป็นของประเทศอะไร

สงกรานต์ เป็นคำในภาษา สันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้าย โดยเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายการประทับในจักรราศี หรือการเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ตามความเชื่อของไทยและบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลี(เทศกาลสาดสี) ในอินเดียโดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ศึกษาวัฒนธรรมไทยได้เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับวันสงกรานต์ ไว้ว่า แต่เดิมไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสาดน้ำแม้แต่น้อย ความคิดเรื่องการสาดน้ำใส่กันในเพิ่งมีมาในยุคหลัง และการท่องเที่ยวก็ทำให้การเล่นน้ำสงกรานต์กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างกว้างขวางโดย อ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าที่สุดที่กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ซึ่งก็คือ โคลงทวาทศมาสว่า ในสมัยต้นอยุธยานั้นไม่ได้กล่าวถึงการสาดน้ำเอาไว้

ประกาศสงกรานต์

สุจิตต์ กล่าวต่อไปว่า สมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ เสมียนมี กวี ร.3 แต่งนิราศเดือนโดยเริ่มต้นพรรณนาถึงสงกรานต์ ไม่มีสาดน้ำ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรื่องนางนพมาศ (แต่งในแผ่นดิน ร.3) พรรณนาพระราชพิธีเดือนห้า มี "ขึ้นปีใหม่" แต่ไม่มีสาดน้ำ" จึงสรุปว่า การกล่าวว่าสงกรานต์คือประเพณีที่เอามาจากเทศกาลโฮลีที่มีจุดเด่นเรื่องการสาดสีและมาแปลงเป็นสาดน้ำจึงไม่น่าจะเป็นจริง

ทั้งนี้ แถบเอเชียยตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน หลายประเทศมีประเพณีสงกรานต์ และเล่นสาดน้ำ เช่น ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา โดยที่ลาว เรียกว่าวัน สงกาน ที่เมียนมา เรียกว่าวัน Thingyan และที่กัมพูชา เรียก ซ็องกรานต์ รวมถึงชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑลยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกาด้วย

น้ำอบ น้ำปรุง กับประเพณีสงกรานต์

 

"น้ำอบ น้ำปรุง" เป็นภูมิปัญญาคนไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยนำมาใช้ในประเพณีต่างๆ เช่น พิธีสรงน้ำพระ พิธีโกนผมไฟ พิธีแต่งงาน พิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในวันสงกรานต์

รวมถึงใช้เป็นเครื่องประทินผิวกาย เพื่อให้เกิดกลิ่นหอม ปะพรมร่างกายให้สดชื่น กลิ่นหอมของน้ำอบน้ำปรุงมีประโยชน์ ช่วยทำให้คลายวิตกกังวล ลดอาการวิงเวียนศีรษะ บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยให้นอนหลับสบาย