WHO ระบุ โรคฝีดาษลิง "ยังไม่ฉุกเฉิน" แต่ต้องจับตาใกล้ชิด

02 ก.ค. 2565 | 19:24 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2565 | 02:54 น.
1.4 k

WHO ชี้การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงตลอดระยะเวลา 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา “ยังไม่อยู่ในระดับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” แต่สถานการณ์ยังน่าวิตกกังวลอย่างมาก และต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ออกแถลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ที่พบผู้ป่วยสะสมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ในเกือบ 50 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ภายในเวลาเพียง 6 สัปดาห์ 

 

โดยระบุว่า “ยังไม่อยู่ในระดับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” แต่สถานการณ์ยังน่าวิตกกังวลอย่างมาก และทุกประเทศต้องร่วมกันจับตารูปแบบการแพร่เชื้อ และการแสดงอาการของโรคอย่างใกล้ชิดต่อไป 

นพ.เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมพิจารณายังคงมีความเห็นแตกต่างกัน และอาจมีการประชุมร่วมกันอีกในอนาคต หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศตามแนวทางของ WHO หมายความว่า โรคนั้นมีการแพร่ระบาด “อย่างรุนแรง ฉับพลัน และผิดปกติ”

โดยตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ดับเบิลยูเอชโอประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศมาแล้ว 6 ครั้ง ได้แก่ การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก เมื่อปี 2552 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา ระหว่างปี 2556-2559 สถานการณ์โรคโปลิโอ เมื่อปี 2557

 

ตามด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา เมื่อปี 2559 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) เมื่อปี 2562 และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563

 

ปัจจุบัน เชื้อไวรัสฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์หลัก คือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1% และสายพันธุ์ที่ราบลุ่มคองโก มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%