เช็คให้ชัวร์ ! ยาชนิดใดบ้างที่ต้องงดก่อนบริจาคโลหิต

18 มิ.ย. 2565 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 15:35 น.
1.4 k

การบริจาคโลหิต มีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกาย ข้อควรรู้ ยาชนิดใดบ้างที่ต้องงด และต้องงดเป็นระยะเวลาเท่าไร ก่อนมาบริจาคโลหิต

การบริจาคโลหิต ไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค โดย 1 คนจะบริจาคโลหิต ครั้งละ 350 - 450 ซีซี หรือคิดเป็นร้อยละ 10 - 12 ของปริมาณโลหิตทั้งหมดในร่างกาย หลังจากการบริจาคแล้ว ไขกระดูกในร่างกาย จะทำการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยเม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นใหม่นั้น จะไหลเวียนในร่างกายยาวนานประมาณ 120 วัน

 

ประโยชน์ของการบริจาคเลือด

 

  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูก ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง
  • ช่วยให้ทราบหมู่โลหิตของตนเองในระบบ ABO และ Rh
  • ช่วยให้มีระบบไหลเวียนโลหิตที่ดี
  • ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และมีความสุขในการเป็นผู้ให้

 

ยาที่จำเป็นต้องงดรับประทานก่อนมาบริจาคโลหิต
 

อย่างไรก็ดีการบริจาคโลหิต มียาบางชนิดส่งผลต่อคุณลักษณะของเลือด ดังนั้นในการบริจาคโลหิตจึงมียาบางชนิดที่ควรงดก่อนมาบริจาคโลหิต โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

 

  • ยาแก้ปวดข้อ ยาแอสไพริน และต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSIAD ควรหยุดรับประทานยา แล้ว 2 วัน จึงมาบริจาคโลหิต
  • ยาปลูกผม Finasteride ควรหยุดรับประทานยาแล้ว 1 เดือน จึงมาบริจาคโลหิต
  • ยาปฏิชีวนะ ควรหยุดรับประทานยามาแล้ว 7 วัน หรือหายขาดจากการติดเชื้อนั้น ๆ แล้ว
  • ยารักษาสิว ที่เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอเช่น isotretinoin (Roaccutane) ควรหยุดรับประทานยาอย่างน้อย 1 เดือน

ยาที่สามารถบริจาคโลหิตได้

 

  • ยาเบาหวานที่ไม่ใช่อินซูลิน
  • ยาลดกรด
  • ยาแก้แพ้ ยาลดกรคยูริก
  • ยาลดไขมันในเลือด ยาคุมกำเนิด

 

เช็คให้ชัวร์ ! ยาชนิดใดบ้างที่ต้องงดก่อนบริจาคโลหิต

 

*หมายเหตุ* สำหรับยาชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ สามารถปรึกษาขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ รับบริจาคโลหิตที่ศูนย์รับบริจาคโลหิตนั้น ๆ

 

ที่มา : อ. พญ.รัตตพร วิชิตรัชนีกร ฝ่ายธนาคารเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย