แอสตร้า เผยผลทดลองระยะ 3 ยา Evusheld ป้องกันอาการรุนแรง-เสียชีวิตจากโควิด

16 มิ.ย. 2565 | 16:14 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 00:02 น.

แอสตร้าเซเนก้า แจงจากการทดลองระยะที่ 3 แท็คเคิล ยา Evusheld สามารถป้องกันอาการรุนแรงจากโควิด-19 หรือการเสียชีวิต ได้

 ผลการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) การศึกษาระยะที่ 3 สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยนอกแสดงให้เห็นว่ายา Evusheld ของแอสตร้าเซนเนก้า (เดิมชื่อ AZD7442 ส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวสองชนิด ได้แก่ tixagevimab และ cilgavimab) สามารถป้องกันการการเกิดโรคแบบรุนแรง หรือการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกและทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก(Placebo) โดยการรักษาด้วย ยา Evusheld ในระยะเริ่มต้นของโรคนั้น สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น ข้อมูลนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Respiratory Medicine

 

การทดลองแท็คเคิลดำเนินการศึกษาผู้ร่วมโครงการที่เป็นผู้ป่วยนอกโรคโควิด-19 ซึ่งมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และ 90% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีโรคประจำตัวและภาวะต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงจากโรคโควิด-19 หรือเป็นผู้สูงอายุ

นายฮิวจ์ มอนต์โกโมรี ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเวชบำบัดผู้ป่วยหนัก มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนและหัวหน้าทีมวิจัยของโครงการแท็คเคิล กล่าวว่า ถึงแม้การใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะประสบผลสำเร็จในวงกว้าง แต่ยังมีประชากรจำนวนมากที่ยังมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรครุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น วิธีการอื่นๆ จึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการดำเนินของโรค และลดภาระของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การทดลองแท็คเคิลแสดงให้เห็นว่าการฉีดยา Evusheld เข้ากล้ามเนื้อหนึ่งโดสสามารถป้องกันการดำเนินของโรคโควิด-19 ไปสู่ขั้นรุนแรงได้ ซึ่งการได้รับยาเร็วขึ้นจะส่งผลดีต่อการรักษามากขึ้น

 

เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์(Biopharmaceuticals) ของแอสตราเซนเนก้า กล่าวว่า ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Respiratory Medicine เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสนับสนุนการใช้ยา Evusheld เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการการป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อมูลจากการศึกษานี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการยื่นพิจารณาการขึ้นทะเบียนยาในข้อบ่งชี้ทั้งในทางการรักษาและการป้องกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ในทุกๆด้าน

ผลลัพธ์หลัก (primary endpoint) ของการทดลองแท็คเคิล พบว่ายา Evusheld สำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 โดส ขนาด 600 มก. สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแบบรุนแรง หรือการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) ได้ถึง 50% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 15, 71; p=0.010) หลังการได้รับยาไปแล้ว 29 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) ในผู้ป่วยนอก ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีอาการในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน

 

จากการวิเคราะห์แบบ pre-specified ผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และได้รับยาภายในช่วง 3 วันแรก พบว่า Evusheld สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรง หรือเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) ได้ถึง 88% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 9, 98) และยังลดความเสี่ยงถึง 67% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 31, 84) ในกลุ่มที่ได้รับยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ1

 

นอกจากนี้ ในรายงานผลลัพธ์รอง (secondary endpoint) Evusheld ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหายใจล้มเหลว ได้ถึง 72% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.3, 92; nominal p=0·036) โดยมีผู้รับEvusheld 3 คน (0.7%) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 11 คน (3%) ที่ต้องอาศัยการรักษาด้วยเครื่องมืออื่นๆ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ หรือเครื่องหัวใจ-ปอดเทียมแบบเคลื่อนย้าย (ECMO)

 

จากการศึกษาแท็คเคิล Evusheld มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดี โดยพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (AEs) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมากกว่ายา Evusheld (36% และ 29% ตามลำดับ) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบได้คือภาวะปอดอักเสบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 49 คน (11%) และในกลุ่มที่ได้รับ Evusheld 26 คน (6%) สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระดับรุนแรงนั้นเกิดขึ้นในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 12% และในกลุ่มที่ได้รับ Evusheld 7% โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 6 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกและ 3 รายในกลุ่มที่ได้รับ Evusheld

 

สำหรับการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) เป็นการทดลองในระยะที่ 3 แบบสุ่ม ปกปิดข้อมูลทั้งสองทาง และศึกษาควบคุมด้วยยาหลอกภายในศูนย์ทดลองหลายแห่ง เพื่อให้ทราบถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้ยา Evusheld 1 โดส ขนาด 600 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอกในการรักษากลุ่มผู้ป่วยนอกจากโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งการทดลองดังกล่าวได้ถูกดำเนินการในศูนย์การทดลอง 95 แห่ง ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา, กลุ่มประเทศลาตินอเมริกา, ทวีปยุโรป และประเทศญี่ปุ่น มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวน 903 คน โดยสุ่มผู้ที่ได้รับยา Evusheld หรือ ได้รับน้ำเกลือเป็นยาหลอก ในอัตราส่วน 1:1 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยา Evusheld เป็นจำนวน 452 คน และมีกลุ่มตัวอย่างที่ได้น้ำเกลือเป็นยาหลอกจำนวน 451 คน ซึ่งเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสองจุดต่อเนื่องกัน

 

ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและแสดงอาการในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน แบบที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการต้องได้รับเอกสารยืนยันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยวิธีทดสอบเชื้อทางโมเลกุล (การตรวจแอนติเจนหรือกรด นิวคลีอิก) จากการเก็บตัวอย่างทางระบบทางเดินหายใจ (เช่น ทางช่องปาก ช่องจมูกหรือ น้ำมูก หรือ น้ำลาย) ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างเชื้อมาไม่เกิน 3 วัน ก่อนวันที่เข้าร่วมโครงการ ผู้เข้าร่วมจะต้องไม่ใช่ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้ว ณ วันที่คัดกรอง

 

ประสิทธิภาพระดับปฐมภูมิประกอบไปด้วยการมีอาการจากการติดเชื้อโควิด-19 แบบรุนแรง หรือการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่เกิดขึ้นในช่วง 29 วัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะถูกติดตามต่อไปจนครบ 15 เดือน

 

ผู้เข้าร่วมโครงการราว 13% มีอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไป นอกจากนี้ 90% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีโรคประจำตัวและภาวะต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งรวมถึง โรคมะเร็ง, เบาหวาน, โรคอ้วน, โรคปอดเรื้อรัง หรือ โรคหอบ, โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 62% เป็นชนผิวขาว/คอเคซอยด์, 4% เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน, 6% เป็นชาวเอเชีย, 24% เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน และ 52% เป็นชาวละติน

 

ก่อนหน้านี้ ทางแอสตร้าเซนเนก้าได้ประกาศผลลัพธ์เบื้องต้นที่ดีจากการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) การศึกษาระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง