“แพ้อาหาร” เรื่องเล็กๆที่ไม่ควรมองข้าม

21 เม.ย. 2565 | 13:17 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2565 | 20:36 น.
1.8 k

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง  แนะอาการ “แพ้อาหาร” แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆแต่ไม่ควรมองข้าม อาการแพ้มักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารและยา จึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุ พร้อมแนะวิธีการป้องกันและรักษาที่ถูกวิธี

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยวันนี้ (21 เม.ย.) ว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทาง social media เรื่อง เตือนภัยการแพ้กุ้ง มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ริมฝีปากบวมจนปากเบี้ยว บวมเป่งนั้น พบว่า อาหาร เป็นสาเหตุของ อาการแพ้ ได้บ่อย

 

ในเด็ก พบว่าอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ได้บ่อย คือ นม ถั่ว แป้งสาลี และไข่ ส่วนผู้ใหญ่ มักพบว่าแพ้อาหารทะเลเป็นหลัก นอกจากนี้ สารปรุงแต่งรสในอาหาร ยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้อย่างที่เป็นข่าว ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้น ยังอาจเกิดจากการแพ้สารอื่นๆที่เป็นส่วนผสมในอาหาร

ในเด็ก พบว่าอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ได้บ่อย คือ นม ถั่ว แป้งสาลี และไข่

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง  กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการปากบวมเจ่อหลังจากรับประทานอาหารหรือยา เป็นอาการที่บ่งบอกถึงอาการแพ้ซึ่งมักเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ ภายใน 1-2 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารหรือยา

ทั้งนี้ อาการแพ้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ 

  • อาการคันรอบปาก
  • ปากบวมเจ่อ
  • มีผื่นคันตามร่างกาย หรือเรียกอีกอย่างว่า “ผื่นลมพิษ”

อาการหนึ่งที่พบได่บ่อย คือมีผื่นคันตามร่างกาย หรือเรียกอีกอย่างว่า “ผื่นลมพิษ”

ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดเยื่อบุทางเดินหายใจบวม ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ความดันต่ำ และถึงแก่ชีวิตได้

 

ท้ายที่สุด ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การป้องกันและการรักษาที่ถูกวิธี คือผู้ที่มีอาการแพ้หลังรับประทานอาหารและยา ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นปัจจัยกระตุ้น หากไม่แน่ใจควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

 

อย่าลืมนะคะ หากไม่แน่ใจควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง