ป่วยทางจิตแก้ไขได้ กรมสุขภาพจิตเตือน ต้องเร่งบำบัด ก่อนมีภาวะอันตราย

16 ก.พ. 2565 | 11:31 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2565 | 18:44 น.

กรมสุขภาพจิต ชี้บุคคลเจ็บป่วยทางจิตที่มีภาวะอันตราย จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบุคลากรทางการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 พร้อมย้ำปัญหาแก้ไขได้ หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่มีผู้เจ็บป่วยทางจิตได้มีพฤติกรรมรุนแรง บางครั้งส่งผลคุกคามต่อความปลอดภัยของสังคม และเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ก่อเหตุเองด้วย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช มีมาโดยตลอดเป็นระยะๆ

 

ทั้งที่ในปัจจุบันกระบวนการรักษาทางจิตเวช สามารถควบคุมดูแลอาการทางจิตเช่นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การขาดความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติด้านลบของประชาชนต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกละเลยหรือปฏิเสธจากครอบครัวและสังคม จนไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม 

เป็นเหตุให้ความผิดปกติทวีความรุนแรงขึ้น นำไปสู่พฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง บุคคลรอบข้างและสังคมได้ ซึ่งการป้องกันแก้ไขปัญหานี้มีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่ให้การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและความปลอดภัยของสังคม ตามมาตรา 22 ได้กำหนดให้บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่ง

 

คือ มีภาวะอันตรายหรือมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เป็นบุคคลที่ “ต้อง” ได้รับการบำบัดรักษา และมาตรา 23 กำหนดให้ผู้พบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะมีภาวะอันตรายหรือมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า

กรมสุขภาพจิตแนะนำให้ครอบครัว ญาติ และคนใกล้ชิด สอดส่องสังเกตอาการผิดปกติทางจิตของคนในครอบครัว หากสงสัยให้ดำเนินการปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323

 

ถ้าพิจารณาแล้วพบว่ามีภาวะเสี่ยง ให้ส่งต่อเพื่อประเมินรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และหากพบว่ามีภาวะอันตรายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาทันท่วงที ให้รีบโทรแจ้งสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และสายด่วนตำรวจ 191

 

นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำตัวเข้ารับการบำบัดรักษาตามกฎหมาย