รพ.เมดพาร์ค-จุฬาฯ ร่วมพัฒนานวัตกรรม ช่วยผู้ป่วยพาร์กินสัน

05 พ.ย. 2564 | 11:17 น.

งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ถือเป็นหนึ่งความสามารถของแพทย์ไทยที่เดินหน้าไม่หยุด โดยล่าสุด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พัฒนานวัตกรรมไม้เท้าเลเซอร์พระราชทาน ส่งมอบให้ผู้ป่วยฟรี

“นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า โรงพยาบาลเมดพาร์คได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2563 ด้วย
เป้าหมายการช่วยเหลือผู้ป่วย พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง ศ.ดร. นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้คิดและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีปัญหาการเดิน การติดขัดเคลื่อนที่ไม่ได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานจัดหารายได้สภากาชาดไทย และ กิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะส่งมอบให้กับผู้ป่วยฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จำนวน 8,000 ด้าม 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช

“ศ.ดร. นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ” หัวหน้าศูนย์ประสาทวิทยาโรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ไม้เท้าเลเซอร์พระราชทานนี้ ได้พัฒนาต่อเนื่องมา 8 ปี มีการปรับปรุงและพัฒนาตามอาการผู้ป่วยในแต่ละสถานการณ์ โดยที่ผ่านมา ได้ส่งมอบไม้เท้าเลเซอร์ไปแล้ว 2,000 ด้าม และล่าสุด ได้พัฒนารุ่นที่ 8 ขึ้นมาอีก 8,000 ด้าม ซึ่งจะมอบให้ผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการ มีบัตรประชาชน และมีใบรับรองแพทย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถติดต่อผ่านโรงพยาบาลเมดพาร์ทและ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

รพ.เมดพาร์ค-จุฬาฯ  ร่วมพัฒนานวัตกรรม ช่วยผู้ป่วยพาร์กินสัน

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลจะมีการฝึกอบรมการใช้ไม้เท้าเลเซอร์พระราชทานให้กับผู้ป่วยด้วย เพราะผู้ป่วยต้องฝึกการบาลานซ์ตัวในการเดิน การเคลื่อนไหว
 

รพ.เมดพาร์ค-จุฬาฯ  ร่วมพัฒนานวัตกรรม ช่วยผู้ป่วยพาร์กินสัน

“พญ.อุไรรัตน์ ศิริวัฒน์เวชกุล” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า การใช้ไม้เท้าเลเซอร์ให้ได้ประโยชน์ต้องอาศัยการฝึก เริ่มจากฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อเองก่อน และพยายามเทรนด์การโพสต์ท่า เอื้อมแตะแล้วกลับมา เอื้อมให้สุดแขน แล้วกลับมาที่เดิม ไม่ให้ล้ม เป็นการเทรนด์กล้ามเนื้อ เพียงแค่นี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยพาร์กินสันดีขึ้น ไปทำเองที่บ้านได้ แล้วมาเช็กเป็นระยะ ก็จะทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โรคพาร์กินสัน หรือโรคกลุ่มความเสื่อมของประสาท ชะลอได้ด้วยการออกกำลังกาย และต้องทำก่อนมีอาการ และต้องทำสม่ำเสมอ คนไข้ต้องพยายามฝึกจังหวะ 
 

“นายแพทย์พงษ์พัฒน์” กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การเลือกใช้นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ผู้ป่วยกล้ามเนื้อเสื่อม ชะลออาการได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลเมดพาร์ค ยังพร้อมพัฒนา และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยให้มากขึ้นเรื่อยๆ

รพ.เมดพาร์ค-จุฬาฯ  ร่วมพัฒนานวัตกรรม ช่วยผู้ป่วยพาร์กินสัน

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,728 วันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564