พัฒนาคน เสริมแกร่งองค์กรมั่นคง ในยุคโควิด -19

12 ก.ย. 2564 | 14:41 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2564 | 21:58 น.
541

การพัฒนาองค์กรและพัฒนาศักยภาพบุคลากร ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้ จะทำได้อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด -19 เข้ามาเร่งเร้าให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียนได้เสนอแนะ การยกระดับ 3 หัวใจสำคัญ คือ Employee Work Passion, Outward Mindset และ Outside - In Thinking

พัฒนาคน  เสริมแกร่งองค์กรมั่นคง  ในยุคโควิด -19

“James R. Engel” Chief Learning Architect จาก SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ให้คำแนะนำว่า ต้องเปลี่ยนเลนส์ในการมอง วิธีการคือการชวนให้คนเข้าใจภาพใหม่ เปลี่ยนแปลงมุมมองให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ หลังจากนั้น ต้องขับเคลื่อน Employee Work Passion ของคนในองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ทั้งในงานและผลของความสำเร็จของธุรกิจ ทำให้เกิดโฟกัสในการทำงาน ตลอดจนสร้างการตื่นตัวในการทำงาน และต้องคิดแบบ Outside-in เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกและผู้คน มองเห็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้รู้ว่า ต้องปรับตัวเร็วแค่ไหน ด้วยความเข้าใจความต้องการของลูกค้า

“เดรีย ซิการ์มี่” Founding Associate and Director of Research สถาบันเคน บลังชาร์ด และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท The Employee Work Passion Company บอกว่า เรื่องของการสร้าง Engagement ยังเป็นสิ่งสำคัญ แต่ Engagement สร้างได้แค่ความพึงพอใจระดับหนึ่ง ไม่ได้รวมถึงเจตนาและความตั้งใจของพนักงาน งานวิจัยของ IBM ระบุว่า มีเพียง 50% เท่านั้น ที่รู้สึกว่าบริษัทเข้าใจในตัวพนักงาน เพราะฉะนั้น จะทำ Engagement เชื่อมโยงองค์กร ฝ่ายบริหาร และพนักงานอย่างไร จึงจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน

พัฒนาคน  เสริมแกร่งองค์กรมั่นคง  ในยุคโควิด -19
 
เริ่มที่ “ทักษะผู้นำ” ทางยุทธศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดบรรยากาศในการทำงาน และนี่คือตัวที่ส่งผลไปถึงการทำงานของพนักงาน “ผู้นำระดับโอปอเรชั่น” ถ้าทำได้ไม่ดี จะส่งผลต่อการทำงานของพนักงาน และความเชื่อมั่นของลูกค้า ซึ่งถ้าคนทำงานระดับหน้างาน มี Work Passion ไม่ดี จะส่งผลให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในองค์กร
 

สถาบันเคน บลังชาร์ด ได้พัฒนาเครื่องมือการวัดผล Work Passion เพื่อพัฒนาองค์กร 5 ระดับ ในมิติการทำงาน 12 ด้าน เพื่อกำหนดกลยุทธ์องค์กร โดยมีการวัดเจตนาและความรู้สึกของพนักงาน โดยวัดถึงความแฟร์ขององค์กรต่อพนักงานในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งงาน การจ่ายค่าแรง ความเป็นธรรม มีการบังคบใช้นโยบายอย่างเท่าเทียมหรือไม่ ตรงนี้คือตัวกำหนดสำคัญว่า องค์กรนี้น่าอยู่หรือเปล่า ซึ่งนั่นหมายความด้วยว่า องค์กรจะเป็นที่สนใจให้มีคนอยากเข้ามาร่วมงานด้วยหรือไม่ 
  พัฒนาคน  เสริมแกร่งองค์กรมั่นคง  ในยุคโควิด -19

รวมไปถึงเรื่องของการเติบโต มี Career Path ที่ดีสำหรับพนักงานหรือเปล่า พนักงานต้องเห็นอนาคตของตัวเอง องค์กรมีเป้าหมายไหม และงานที่เขาทำมีความสำคัญแค่ไหน และเวิร์คไลฟ์บาลานซ์เป็นอย่างไร  ไม่ใช่ทำงานตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงอำนาจการตัดสินใจในการทำงาน ความหลากหลายของเนื้องาน ไม่ใช่ทำงานอย่างเดียวทุกวัน 
 
มิติด้านความสัมพันธ์ ไม่ใช่แค่หัวหน้า ลูกน้อง แต่รวมถึงการประสานงานร่วมกัน การแชร์ข้อมูลข้ามแผนกกัน สุดท้ายคือ ฟีดแบค ความเห็นจากคนที่ทำงานด้วย ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และสร้าง Passion ต่อได้ มีหรือไม่ และการสร้าง Passion ต้องสร้างให้กับทุกคนในองค์กร โดยไม่จำกัดตำแหน่ง โดยทุกส่วนของคนทำงาน ต้องมี Outward Mindset คือ วิธีคิดที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ของ “ตัวเราและผู้อื่น” โดยให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดใจ รับฟัง และเข้าใจความต้องการของผู้อื่น และหาทางร่วมมือกันเพื่อไปยังเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้
 
หากทำได้ จะสามารถเป็นแรงผลักดันสร้างให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนองค์กรให้ข้ามผ่านวิกฤติโควิด -19 ไปได้ 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564