"ค่าตอบแทน" ความต้องการเบอร์ 1 มนุษย์เงินเดือน WFH นาน

11 ส.ค. 2564 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 21:51 น.

จ๊อบส์ ดีบี เปิดผลวิจัย 7 อินไซท์ใหม่ “มนุษย์เงินเดือน” หลังเจอพิษโควิด-19 WFH ยาว พบความต้องการ "ค่าตอบแทน" ขึ้นเบอร์ 1 แซงหน้า "เวิร์คไลฟ์บาลานซ์"

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า จากสถานการณ์การโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังไม่ผ่อนคลาย และมีการติดเชื้อระลอกใหม่เกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในวงกว้าง ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องปรับตัวเตรียมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจในส่วนต่าง ๆ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่นเดียวกับ “คนทำงาน” ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ไม่น้อย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มและความต้องการต่าง ๆ ของตลาดแรงงาน

 

จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ได้ทำการสำรวจ “Decoding Talent Survey” เพื่อสำรวจทิศทางความต้องการของกลุ่มคนทำงานในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจกว่า 200,000 คน ใน 190 ประเทศ จาก 20 กลุ่มอาชีพ จัดทำขึ้นในช่วงปลายปี 2020 เพื่อศึกษาเทรนด์ของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ จากแบบสำรวจดังกล่าว พบข้อมูลที่น่าสนใจของตลาดคนทำงานในไทยที่เปลี่ยนไปดังนี้

1. ค่าตอบแทนมาก่อนความสมดุล (Financial Compensation)

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ คนทำงานให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนมากที่สุดอ้างอิงจากผลสำรวจที่ชี้ว่าในปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 คนทำงานจะให้ความสำคัญกับความสมดุลในชีวิตหรือ Work Life Balance มากที่สุด ส่วนค่าตอบแทนจะเป็นอันดับที่ 5 

 

2. ทำงานแบบผสมเป็นนอร์มอล (Flexibility)

แบบสำรวจยังพบอีกว่าคนทำงานในไทยมีความต้องการที่จะทำงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานระยะไกลและทำงานที่ออฟฟิศ คิดเป็น 73% จากทั้งหมด และอีก 20% มีความต้องการที่จะทำงานระยะไกลเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เปลี่ยนไปของคนทำงานที่เริ่มมองหาไลฟ์สไตล์การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid) มากยิ่งขึ้น จึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญกับ “การทำงานแบบยืดหยุ่น” (Flexibility) เพื่อรับกับสถาการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

 

3. ให้คุณค่ากับสังคม (Value-based Workplace Culture)

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนทำงานในยุคปัจจุบันคือการแสวงหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมในการทำงานที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาคนทำงานส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านการทำงาน ดังนั้น จากผลการสำรวจพบว่า ภาพรวมกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยมีแนวโน้มให้ความสนใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสูงถึง 70% ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ (Gen Z) 53% จะไม่เลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่ไม่มีนโยบาย CSR ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

4. เปิดรับยุคดิจิทัล (Digital Tools)

เมื่อคนทำงานในองค์กรมีความจำเป็นที่จะต้อง “Work from Home” อีกสิ่งหนึ่งที่ควบคู่กับการทำงานที่บ้านนั้นคือการใช้ “เครื่องมือดิจิทัล” ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนทำงาน ให้สามารถทำงานและสื่อสารกันได้เหมือนกับการทำงานที่ออฟฟิศ โดยเครื่องมือดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในทุกอุตสาหกรรมคงหนีไม่พ้น อีเมล (E-mail) ระบบการประชุมทางไกล (Teleconference) ระบบคลาวด์ (Cloud) และอีกหลากหลายเครื่องมือดิจิทัลที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อรองรับกับการทำงานระยะไกล จากผลสำรวจพบว่า ตลาดแรงงานไทยมีการใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้นคิดเป็น 0.8 คะแนน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 0.56 คะแนน และในอนาคต เครื่องมือดิจิทัลอาจจะมีแนวโน้มในการเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

5. ยอมรับความหลากหลายในองค์กร (Diversity)

อีกหนึ่งแนวโน้มที่ค่อนข้างน่าสนใจและกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในขณะนี้คือ “ความหลากหลาย” (Diversity) ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่อง เพศ อายุ เชื้อชาติ สังคม โดยผลสำรวจพบว่า 91% ของตลาดแรงงานไทยให้ความสำคัญกับความหลากหลายในองค์กร โดยเฉพาะคนทำงานรุ่นใหม่ ซึ่งสูงกว่าตลาดแรงงานทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในด้านนี้เพียง 68% และคนทำงานกว่า 63% ไม่ประสงค์ที่จะร่วมงานกับองค์กรที่มีการปิดกั้นเรื่องความหลากหลายทำให้ความหลากหลายในองค์กรเป็นอีกหนึ่งค่านิยมทางสังคมที่องค์กรไม่ควรมองข้าม

 

6. ติดปีกทักษะใหม่ เพื่อโอกาสงานที่ดีกว่า (Upskill)

คนทำงานมีความต้องการที่จะฝึกอบรมเพื่อเข้ารับการทำงานในตำแหน่งงานใหม่ ๆ โดยจากผลสำรวจพบว่า คนทำงานในประเทศไทยยินดีที่จะฝึกอบรมสำหรับตำแหน่งงานใหม่สูงถึง 83% โดยพบว่าสายงานช่างและการผลิตเต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกอบรม 100% ตามมาด้วยสายงานด้านสื่อและข้อมูลข่าว 88% และด้านการขาย 87% และเป็นที่น่าสนใจว่าคนทำงานในสายงานด้านดิจิทัลและออโตเมชั่น เป็นกลุ่มงานที่พนักงานอยากฝึกอบรมสำหรับตำแหน่งงานใหม่น้อยที่สุด คิดเป็น 67%  

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าอุตสาหกรรมที่คนทำงานอยากเปลี่ยนงานไปทำงานมากที่สุดใน 4 อุตสาหกรรมประกอบด้วยอุตสาหกรรมไอทีและเทคโนโลยี 60% การสื่อสารการตลาด 40% กลุ่มงานด้านที่ปรึกษา และอุตสาหกรรมสรรหาบุคลากร ที่ 13% เท่ากัน

 

7. เปิดกว้างสู่ช่องทางใหม่ในการอัพสกิล (New Channel)

การพัฒนาทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนทบทวนทักษะเดิม (Reskill) ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Upskill) ให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงานปัจจุบันที่มีอัตราการแข่งขันสูง และเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นปัจจัยที่คนทำงานให้ความสำคัญ 

 

จากผลสำรวจพบว่า กว่า 72% ของคนทำงานในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดหากเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง โดยวิธีการเรียนรู้ยอดนิยมในปี 2020 ได้แก่ การฝึกอบรมขณะทำงาน (On-the-job training) คิดเป็น 82% การเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-Study) คิดเป็น 71% การเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชัน (Mobile Apps) คิดเป็น 51% และสถาบันการศึกษาออนไลน์ (Online Educational Institutions) คิดเป็น 48% ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า การเรียนรู้ผ่านสถาบันการศึกษาออนไลน์มีการเติบโตสูงขึ้น 58% และผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เติบโตสูงขึ้น 48% จากปี 2018 ตามลำดับ