“สายด่วน สปสช. 1330” ร่วมหาเตียง "ผู้ติดเชื้อโควิด-19"

26 เม.ย. 2564 | 12:11 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2564 | 21:54 น.
677

การดูแลผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตามระบบการรักษาพยาบาลและเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดสู่คนรอบข้าง การอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทั้งที่โรงพยาบาล Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ดูเป็นมาตรการปลอดภัยที่สุด แต่ด้วยจำนวนผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19

การดูแลผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตามระบบการรักษาพยาบาลและเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดสู่คนรอบข้าง การอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทั้งที่โรงพยาบาล Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ดูเป็นมาตรการปลอดภัยที่สุด แต่ด้วยจำนวนผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เตียงรองรับในโรงพยาบาลหลายแห่งที่เคยเพียงพอ ต้องถูกจำกัดเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีอาการป่วย ประกอบกับความไม่มั่นใจและความไม่สะดวกสบายในโรงพยาบาลสนามที่เกิดการปฏิเสธ ส่งผลให้เกิดปัญหารอคอยเตียงรักษาของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งมือร่วมแก้ไขปัญหานี้ ในการจัดหาเตียงสำหรับผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพหลัก บริการผ่านระบบ สายด่วน กรมการแพทย์ 1668 นอกจากสายด่วน 1646 ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร แล้ว “สายด่วน สปสช. 1330” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมประสานจัดหาเตียงให้กับผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล มอบให้ สปสช. ร่วมประสานหาเตียงให้กับผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหานี้ ด้วยเล็งเห็นศักยภาพสายด่วน สปสช. 1330 ทั้งนี้ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ปัญหานี้ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. และที่บางส่วนยังไม่ได้เตียงเพื่อเข้าสู่ระบบดูแล ไม่ได้เกิดจากจำนวนเตียงที่มีไม่พอตามที่เข้าใจ แต่ด้วยโรงพยาบาลใน กทม. แม้ว่าจะมีอยู่หลายแห่ง แต่สังกัดหน่วยงานต่างกันและมีทั้งเอกชน อาจส่งผลในการประสานงานทำให้เข้าไม่ถึงเตียง ขณะเดียวกันมีบางส่วนไม่ต้องการเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม จึงเกิดการตกค้างและรอคอยเตียงว่างจำนวนมาก ต่างจากต่างจังหวัดที่สามารถนำผู้ตรวจพบเชื้อเข้าสู่ระบบได้หมด  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช

          การทำงานร่วมกันสายด่วนทั้ง 3 หน่วยงานที่พยายามจัดหาเตียงว่าง ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นเข้าสู่ระบบแม้จะเป็นโรงพยาบาลสนาม ทำให้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตกค้างได้มาก ถือเป็นกลไกมีประสิทธิภาพ ประกอบกับกรุงเทพมหานครเตรียมขยายเตียง รพ.สนาม เพิ่มเติม เชื่อว่าเร็ววันนี้จะสามารถเคลียร์ผู้ติดเชื้อตกค้างใน กทม. ลงได้ โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และสำนักเทศกิจ 50 เขต รับหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายผู้ตรวจพบเชื้อไปยังโรงพยาบาล

ขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเสี่ยงโควิด 19 เม.ย.64

"จากข้อมูล 1330 เราใช้เวลาประสานนานที่สุด 3 วัน เนื่องจากบางครั้งมีปัญหาว่าท่านโทรศัพท์มาบอกผลเลือด แต่เราไม่ได้ผลตรวจตัวจริงมา ต้องตรวจสอบกับโรงพยาบาลที่ทำการตรวจก่อน เพื่อส่งต่อข้อมูลให้โรงพยาบาลปลายทาง ตรงนี้ต้องใช้เวลาทำให้ผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต้องรอคอย แต่เจ้าหน้าที่เราทุกคนได้พยายามทำโดยเร็วที่สุด”

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ระหว่างรอเตียงนอกจากขอให้ผู้ที่ตรวจพบเชื้อกักตัวที่บ้าน ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแล้ว เพื่อเป็นการดูแลต่อเนื่อง  กรมการแพทย์และ สปสช. ร่วมจัดบริการให้เจ้าหน้าที่สายด่วนทั้ง 2 หมายเลข โทรหาผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่รอเตียงทุก 6 ชั่วโมง เพื่อแจ้งความคืบหน้าการประสานหาเตียงว่าอยู่ในขั้นตอนใด ขณะเดียวกันเป็นการติดตามอาการผู้ตรวจพบเชื้อด้วย หากพบว่ารายใดที่มีอาการแย่ลง จะมีกลไกสำหรับผู้ป่วยอาการหนักไปรับตัวมารักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

ด้าน พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า นอกจากบริการสายด่วนข้างต้นในการร่วมหาเตียงให้กับผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ไลน์ @sabaideebot ของกรมการแพทย์ อีกหนึ่งช่องทางในการประสานหาเตียงให้กับผู้ตรวจพบเชื้อได้ แต่ทั้งนี้ย้ำว่าไม่ต้องโทรไปที่สายด่วนหลายเลขหมาย เพราะทั้งหมดจะบันทึกในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อลดควาซ้ำซ้อนของข้อมูล โดยศูนย์เอราวัณจะรับหน้าที่ในการเคลียร์ข้อมูลทั้งหมด