สภาพัฒน์ เบรก ก.พ.ร. โอนอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้งบช่วงวิกฤต

25 เม.ย. 2565 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2565 | 23:42 น.
528

สภาพัฒน์ เบรก สำนักงาน ก.พ.ร. ทำข้อเสนอชงครม. ขอโอนอำนาจ ก.บ.ภ. เรื่องการใช้งบประมาณ มาให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หวังแก้ไขในภาวะวิกฤต โดยชี้ทำได้แค่เฉพาะบางเรื่องเท่านั้น

ควันหลงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่นานมานี้ มีวาระหนึ่งเสนอเข้ามายังที่ประชุมรับทราบ คือ รายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประจำปีงบประมาณ 2563 – 2564 เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร.

 

รายงานฉบับนี้มีการจัดทำข้อเสนอแนะการบริหารงานและการใช้บริการประชาชน กรณีเกิดสภาวะวิกฤตในอนาคต หนึ่งในนั้นคือ การวางระบบการบริหารงบประมาณในระดับพื้นที่ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากหน่วยงาน ระดับจังหวัดเป็นด่านหน้าและเป็นผู้ปฏิบัติงานหลักในการแก้ไขสถานการณ์ในภาวะวิกฤต 

 

แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงแผนงานโครงการของจังหวัดที่กระทบกับแผนงานเดิม จำเป็นต้องพิจารณาผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งใช้ระยะเวลานานและอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤต จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

 

นายกรัฐมนตรีประชุมร่วม ก.บ.ภ. และ ก.น.จ. ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนก.พ. 2565

ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เสนอ ก.บ.ภ. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาปรับแนวทางการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

 

โดยให้การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อแก้ไขในภาวะวิกฤตในกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ) หรือคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัด แบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน แล้วจึงรายงานให้ส่วนกลางรับทราบ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ อย่างทันท่วงที 

 

ทั้งนี้ อาจกำหนดให้มีการหารือกับผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ สำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามระเบียบการบริหารงบประมาณที่เกี่ยวข้อง

 

ตามข้อเสนอนี้ แม้ที่ประชุมครม. จะไม่ได้ขัดข้อง โดยได้รับทราบ และเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ แต่ก็ขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนด้วย ซึ่งกรณีของการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณนั้น สศช. และสำนักงบประมาณ ได้ทำความเห็นประกอบ อย่างน่าสนใจดังนี้

 

เลขาธิการ สภาพัฒน์ ประชุมร่วม ก.บ.ภ. และ ก.น.จ. ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนก.พ. 2565

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. มีความเห็นว่า สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ก.บ.ภ. เห็นว่า ก.บ.ภ. ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงโครงการตาม แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2570 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

 

โดยได้กำหนดให้เป็นอำนาจของ ก.บ.จ. หรือ ก.บ.ก. พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (อ.ก.บ.ภ.) ที่กำกับดูแลภาค และ ก.บ.ภ. เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

  • โครงการที่ ก.บ.ภ. ให้ความเห็นชอบแต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
  • โครงการเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรม หรือพื้นที่ดำเนินการ หรือแผนการใช้จ่าย งบประมาณ หรือยกเลิกการดำเนินการโครงการ หรือกิจกรรมภายใต้โครงการ
  • การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการที่ไม่มีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ กิจกรรม หรือรายการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ
  • การขยายผลโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จเพื่อเพิ่มเติมเป้าหมายโครงการเดิมให้บรรลุ ผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น
  • การใช้งบประมาณเหลือจ่าย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินตามคำพิพากษาของศาล การจ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) และค่าใช้จ่ายในการบำรุง ดูแล รักษา หรือค่าสาธารณูปโภคฯ ของสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการโอนสินทรัพย์ให้ส่วนราชการ เฉพาะสินทรัพย์ที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.บ.ภ.

 

ขณะที่ นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีความเห็นว่า กรณีจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ขอเปลี่ยนแปลงโครงการภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดดังกล่าว เห็นควรจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงโครงการและแจ้งให้คณะ อ.ก.บ.ภ. ที่กำกับดูแลภาคทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นไตรมาสที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงโครงการ

 

ทั้งนี้เพื่อ อ.ก.บ.ภ. จะใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลตามอำนาจหน้าที่ อ.ก.บ.ภ. ต่อไป