รู้จักหน้าที่ไวยาวัจกร ผู้คุมบัญชีการเงิน-ทรัพย์สินวัด

04 เม.ย. 2565 | 18:32 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 03:15 น.
4.8 k

ทำความรู้จักกับหน้าที่ของ “ไวยาวัจกร” ผู้ดูแลจัดการประโยชน์ศาสนสมบัติของวัด จัดทำบัญชี ทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในวัด ร่วมเจาะลึกถึงรายละเอียดของหน้าที่สำคัญนี้กันว่า เป็นอย่างไร

ฐานเศรษฐกิจ นำเสนอประเด็นการฉกทรัพย์ของวัดบวรนิเวศวิหาร โดยลูกศิษย์คนสนิทของสมเด็จพระวันรัต คือ “นายเนย” ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกรของวัด โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวได้แล้ว แต่เจ้าตัวยังคงให้การปฏิเสธ

 

สำหรับกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กลไกสำคัญสำหรับการดูแลจัดการทรัพย์สินของวัด เป็นหน้าที่ของ “ไวยาวัจกร” ซึ่งตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้ไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในกฎหมายอาญา เป็นผู้ช่วยเหลือวัดในการดูแลจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย

 

ที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีการจัดทำหนังสือคู่มือไวยาวัจกร โดยมีความหมายว่า ผู้ทำกิจธุระแทนภิกษุหรือสงฆ์ ผู้ทำการขวนขวายแทนภิกษุหรือสงฆ์ รวมทั้งผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์ ผู้ช่วยขวนขวานทำกิจธุระ หรือผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ 

 

หน้าที่ของไวยาวัจกร 

  • หน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต (ค่าภัตตาหาร)
  • หน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ 

หลักเกณฑ์การแต่งตั้งไวยาวัจกร 

 

คฤหัสถ์ที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นไวยาวัจกรตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกร โดยคฤหัสถ์ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ 

  • เป็นชาย มีสัญชาติไทย นับถือพระพุทธศาสนา
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี บริบูรณ์
  • เป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง
  • เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ไวยาวัจกร ได้
  • เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ
  • ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือมีโรคเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
  • ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เช่น มีความประพฤติเสเพล เป็นนักเลงการพนัน เสพสุราเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ
  • ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษให้ออกจากราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือบริษัทห้างร้านเอกชนในความผิดหรือมีผลทินมัวหมองในความผิดเกี่ยวกับการเงิน
  • ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

ความรับผิดชอบของไวยาวัจกร

 

ไวยาวัจกร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดประโยชน์ศาสนสมบัติของวัด อันเป็นทรัพย์สินของ “พระศาสนา” นอกจากจะมีบทบัญญัติกำหนดขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ไวยาวัจกร

 

พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งถอดถอนไวยาวัจกรตลอดจน “ความรับผิดชอบ” ในหน้าที่ของไวยาวัจกรไว้เป็นพิเศษ อีกส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับความรับผิดชอบของข้าราชการฝ่ายบ้านเมือง ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินแผ่นดิน หรือของ “ชาติ” ซึ่งแยกออกพิจารณาได้เป็น 2 ส่วน คือ

  1. ความรับผิดชอบในทางแพ่ง
  2. ความรับผิดชอบในทางอาญา

 

ส่วนความรับผิดชอบของไวยาวัจกร ในข้อที่ 1 คือความรับผิดชอบในทางแพ่ง นั้น หมายถึง ความรับผิดชอบในฐานะที่ไวยาวัจกรเป็น “ตัวแทนของวัด” ซึ่งเป็นนิติบุคคล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์

 

ถ้าไวยาวัจกรกระทำการใด ๆ โดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของไวยาวัจกรหรือมิชอบด้วยสิทธิหน้าที่ของวัด หากเกิดความเสียหายแก่วัดหรือบุคคลภายนอกก็ตาม ไวยาวัจกรผู้นั้นต้องรับผิด ต้องรับใช้ความเสียหายนั้นแก่วัด หรือบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ตัวแทน

 

ส่วนความรับผิดชอบของไวยาวัจกร ในข้อที่ 2 คือความรับผิดชอบในทางอาญา นั้น หมายถึง ความรับผิดชอบในฐานะที่ไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยได้มีการบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเรื่องเจ้าพนักงานไว้ในลักษณะ และหมวดอื่น ๆ อีกในประมวลกฎหมายอาญา

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าไวยาวัจกรผู้ใดเบียดบังยักยอกทรัพย์สินของวัด อันอยู่ในความครอบครองของตนตามหน้าที่ ต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงาน “ยักยอก” ทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 147 นั้น หรือ ถ้าไวยาวัจกรผู้ใดใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยทุจริตเป็นการเสียหายแก่วัดต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทาง “ทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 151 นั้น 

 

หรือถ้าไวยาวัจกรผู้ใดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ” หรือโดยทุจริตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 157 มีความว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ไวยาวัจกร

 

การจัดทำบัญชีและทรัพย์สินของวัด

 

ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 วัดในพระพุทธศาสนาเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้น กิจการและทรัพย์สินของนิติบุคคล ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปกครองดูแลก็คือเจ้าอาวาสจะต้องดำเนินการ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายคณะสงฆ์ พ.ศ2505 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) กำหนดว่า

 

“ให้เจ้าอาวาส จัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับ - จ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง”

 

การจัดทำบัญชีวัด แยกเป็น 2 ประเภท

  • เงินผลประโยชน์ คือ เงินที่ได้มาจากการจัดประโยชน์ของวัด เช่น เงินค่าเช่า ค่าผาติกรรม ดอกเบี้ย ส่วนลด เงินค่าบำรุง เงินค่าขายสิ่งของ เงินค่าชดเชยและเงินค่าปรับ และเงินใด ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่งอดเงยขึ้นจากศาสนสมบัติของวัด
  • เงินการกุศล คือ เงินที่มีผู้บริจาคเจาะจงการกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น บริจาคเป้นค่าภัตตาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าก่อสร้างถาวรของเจ้าภาพ เงินบำรุงพระอาพาธและเงินอื่น ๆ 

 

อย่างไรก็ตามในข้อกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดนั้น ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายเดิม และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564

 

เรื่องประกาศกฎกระทรวง ว่าด้วยการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ มีรายละเอียดดังนี้

 

ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505

 

ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้ "สิ่งปลูกสร้าง" หมายความว่า โรงเรือน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือใช้เป็นที่เก็บสินค้า ใช้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือการบริการรวมตลอดทั้งบรรดาทรัพย์อันเป็นส่วนควบหรือติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น

 

ข้อ 3 การได้ทรัพย์สินมาเป็นศาสนสมบัติของวัด ให้วัดลงทะเบียนทรัพย์สินนั้นไว้เป็นหลักฐานและเมื่อต้องจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำหน่ายออกจากทะเบียน โดยระบุเหตุแห่งการจำหน่ายไว้ด้วย การได้มาซึ่งที่ดินหรือสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อได้จดทะเบียนการได้มาตามกฎหมายแล้ว ให้วัดในเขตกรุงเทพมหานครส่งหลักฐานการได้มาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่นให้ส่งไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนั้น

 

ข้อ 4 การกันที่วัดไว้สำหรับเป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม

 

ข้อ 5 การให้เช่าที่วัดที่กันไว้สำหรับเป็นที่จัดประโยชน์ ที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือสิ่งปลูกสร้างให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำทะเบียนทรัพย์สินที่จัดประโยชน์ ทะเบียนผู้เช่าหรือผู้อาศัยไว้ให้ถูกต้อง และให้วัดเก็บรักษาทะเบียนและหนังสือสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐานหรือจะฝากไว้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสำหรับวัดในเขตกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่นก็ได้การให้เช่าตามวรรคหนึ่ง หากมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม

 

ข้อ 6 การให้เช่าที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เพื่อเป็นทางเข้าออกไม่ว่าจะมีกำหนดระยะเวลากี่ปีก็ตาม จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมโดยให้วัดจัดทำเป็นสัญญาภาระจำยอม

 

ข้อ 7 การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกินหนึ่งแสนบาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคารในนามของวัด หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด การดูแลรักษาและจัดการเงินการกุศลที่มีผู้บริจาค ให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริจาค

 

ข้อ 8 ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแล ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง

 

ข้อ 9 ในกรณีที่วัด เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดถูกฟ้อง หรือ ถูกหมายเรียกเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เจ้าอาวาสวัดในเขตกรุงเทพมหานครแจ้งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือเจ้าอาวาสวัดในเขตจังหวัดอื่นให้แจ้งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนั้น ภายในห้าวันนับแต่วันรับหมาย

 

ข้อ 10 ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดแบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญาและแบบพิมพ์อื่นๆ และวิธีการลงทะเบียน จำหน่ายทะเบียน และการทำบัญชี รวมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติแก่วัดเกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้ในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ด้วย

 

ข้อ 11 การจัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต่อไป จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ

 

ข้อ 12 ในระหว่างที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังมิได้กำหนดแบบทะเบียน บัญชีแบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่นๆ ให้ใช้แบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่น ๆ ที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีแบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่นๆ ตามกฎกระทรวงนี้