“บอดี้สูท” คืออะไร ใส่แล้วเข้าห้องน้ำลำบากจริงหรือ

27 ก.พ. 2565 | 03:32 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2565 | 14:01 น.
34.8 k

“บอดี้สูท” กลายเป็นคีย์เวิร์ดที่ผู้คนค้นหาจากข่าวเศร้าสะเทือนใจของดาราสาว “แตงโม นิดา” ที่จากไปก่อนวัยอันควรเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยรูปแบบของชุด "บอดี้สูท" ที่ใส่ยาก-ถอดลำบากสำหรับการเข้าห้องน้ำ ทำให้เกิดคำถามและข้อข้องใจตามมามากมาย

สืบเนื่องจากข่าวดาราสาว “แตงโม” หรือ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกจากเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาคืนวันที่ 24 ก.พ. และต่อมามีการพบร่างของเธอเมื่อวันเสาร์ (26 ก.พ.) โดยผลชันสูตรเบื้องต้นจากนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจพบว่าแตงโม เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ ส่วนชุดที่แตงโมสวมใส่อยู่เป็นลักษณะ “บอดี้สูท” ทำให้มีการสันนิษฐานว่า การใส่ชุดลักษณะดังกล่าวซึ่งใส่ก็ยาก ถอดยิ่งยากกว่า ไม่น่าทำให้เธอไปที่ท้ายเรือซึ่งเป็นที่โล่งเพื่อปัสสาวะจนเป็นเหตุให้พลัดตกจากเรือ เรื่องนี้ทำให้ผู้คนสนใจว่า “บอดี้สูท” มีลักษณะเป็นอย่างไร เรามีคำตอบตรงนี้ 

 

“บอดี้สูท” (bodysuit) เป็นเครื่องแต่งกายแฟชั่นของสาว ๆ เป็นชุดที่มักจะใช้ผ้าที่มีความยืดหยุ่น เช่นผ้ายืด ผ้าสแปนเด็กซ์ รวมทั้งผ้าฝ้ายหรือผ้าวูลผสมสแปนเด็กซ์ สัมผัสสบายตัว นำมาตัดเย็บเป็นชุดมีลักษณะเหมือนกับชุดว่ายน้ำแบบวันพีซ หรือชุดที่นักยิมนาสติก-นักบัลเลต์ สวมใส่ ด้านบนดูเหมือนเสื้อยืด หรือเสื้อสายเดี่ยว ด้านล่างเป็นขาสั้นหรือขาเว้าแบบชุดว่ายน้ำ บางรุ่นอาจจะเย็บเป้าแบบปิด ทำให้เวลาปวดหนัก-เบาจะเข้าห้องน้ำ ต้องถอดออกหมดทั้งตัว (นึกภาพเวลาถอดชุดว่ายน้ำแบบวันพีซ) หรือหากดีไซน์ให้มีซิปหลัง ก็ยังต้องปลดจากด้านบนลงล่างอยู่ดี จึงจำเป็นต้องถอด-ใส่ในที่มิดชิด เช่น ในห้องน้ำ

บอดี้สูทเป็นชุดเข้ารูปคล้ายชุดว่ายน้ำวันพีซ ใส่กับกระโปรงหรือกางเกงก็ดูคล่องตัว

อย่างไรก็ตาม บอดี้สูทบางตัว ก็ออกแบบโดยตีโจทย์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าห้องน้ำเอาไว้ให้แล้ว โดยการตัดเย็บบริเวณเป้าให้มีกระดุมแป๊ก (snap buttons) หรือตะขอเกี่ยว หรือแถบเวลโคร เพื่อที่จะสามารถเปิดบริเวณเป้าของชุดได้ง่ายเมื่อต้องการเข้าห้องน้ำ ซึ่งแบบนี้ ทำให้ไม่ต้องถอดทั้งชุดตั้งแต่ด้านบนลงมา แต่ถึงอย่างไร ก็ยังไม่สะดวกนักหากผู้สวมใส่ใช้บอดี้สูทควบคู่กับกางเกงชั้นใน เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็ยังต้องถอด-ใส่ในสถานที่มิดชิดเช่นในห้องน้ำอยู่ดี บอดี้สูทจึงไม่ใช่รูปแบบของเสื้อผ้าที่จะถอดได้ง่ายๆ โดยไม่โป๊ในที่โล่งแจ้ง

บอดี้สูทแบบแขนยาว

แม้จะมีจุดอ่อนในแง่ความถอดลำบากเมื่อต้องเข้าห้องน้ำ แต่ชุดบอดี้สูทก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ดี เพราะคุณลักษณะที่ใส่แล้วชุดจะแนบเนื้อ รัดรูป ดูกระชับกับรูปร่าง ทำให้รูปทรงดูสวยงาม จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาสาวๆ ที่มั่นใจในรูปร่าง อีกทั้งยังใส่จับคู่ใส่กับเสื้อสูท กระโปรง หรือกางเกงได้อย่างง่าย ๆ ได้สไตล์สาวทำงานแบบเท่ๆ หรือจะหยิบมาสวมใส่ในวันพักผ่อนแบบลำลอง ก็ยังได้   

 

หากจะพูดในเชิงประวัติศาสตร์แฟชั่น “บอดี้สูท” ถือเป็นความก้าวหน้าที่ต่อยอดมาจากชุดรัดรูป (leotard) มันถูกนำเสนอในโลกแฟชั่นของสหรัฐอเมริกาโดยแคลร์ แมคคาเดล นักออกแบบแฟชั่นในราวยุคทศวรรษ 1950 และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อถูกสวมใส่โดยเบตตี้ เพจ นางแบบคนดังในยุคสมัยนั้น และโดยบรรดา “เพลย์บอย บันนี่” หรือสาวๆบนปกนิตยสารเพลย์บอยอันโด่งดังในยุคทศวรรษ 1960  

บอดี้สูทในตำนาน สวมใส่โดยลินดา คาร์เตอร์ในภาพยนตร์ชุด "สาวน้อยมหัศจรรย์" ทางทีวี

ต่อมาเรายังได้เห็นบอดี้สูทในภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่องสาวน้อยมหัศจรรย์ (Wonder Woman) ซึ่งนำแสดงโดยลินดา คาร์เตอร์ ซึ่งโด่งดังมากเมื่อออกฉายถึง 3 ซีซั่นระหว่างปี 1976-1979

หลังจากนั้นในยุคทศวรรษ 1980 ถึงกลางยุค 1990 แฟชั่นดีไซเนอร์ของแบรนด์ดังอย่าง Azzedine Alaia และ Donna Karan ได้นำบอดี้สูทมานำเสนอเป็นแฟชั่นยอดนิยมสำหรับยูนิเซ็กซ์ ใส่ได้ทั้งชายและหญิง รูปแบบยอดฮิตในยุคนั้นที่ยังคงความคลาสสิกมาถึงปัจจุบัน คือบอดี้สูทแบบคอเต่าและแบบเสื้อแขนสั้น ที่ดูดีเป็นพิเศษเมื่อสวมกับกางเกงยีนส์เอวสูง

บอดี้สูทคอเต่าของ Donna Karan ดูดีเป็นพิเศษเมื่อใส่กับกางเกงยีนส์เอวสูง

หรือกับกระโปรงทำงานก็ดูสุภาพ

แฟชั่นบอดี้สูทในยุคปัจจุบันพัฒนารูปแบบมาเป็นชุดชั้นในที่ใส่กระชับรูปร่าง ชุดชั้นในประดับลูกไม้เพิ่มความเซ็กซี่และหรูหรา บางดีไซน์ก็สามารถสวมใส่เป็นชุดราตรีหรูออกงานกลางคืนเมื่อสวมใส่กับกระโปรงหรือกางเกงยาว

 

นับเป็นแฟชั่นสารพัดประโยชน์ที่ครองใจสาว ๆ มายาวนานหลายยุคสมัยจวบจนปัจจุบัน

 

ข้อมูลอ้างอิง Wikipedia สารานุกรมเสรี