"ทำไมฝนตกนานขึ้น อากาศร้อนมาก น้ำท่วมหนักขึ้น น้ำทะเลหนุนสูง ภัยแล้งรุกคืบ ไฟป่าทวีความรุนแรงขึ้น ฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้าเมืองไทย"
หรือนี่คือสัญญาณที่บอกเราว่า “โลกกำลังอ่อนแอ” ลงไปเรื่อยๆ
รายงานความเสี่ยงของโลกปี 2020 โดย World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อม 5 อันดับแรก 1.สภาพอากาศที่รุนแรง 2.ความล้มเหลวจากการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3.การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ 4.ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด 5.ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากมนุษย์
สิ่งเหล่านี้เกิดจาก Climate Change ที่ไม่ได้เจาะจงแค่เรื่อง "โลกร้อน" แต่ครอบคลุมถึงความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติมากมายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ ฝนหลงฤดู พายุถล่ม ไฟป่า คลื่นยักษ์ พายุหิมะ ธารน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลยกระดับสูงขึ้น
สาเหตุสำคัญเกิดจาก “ภาวะเรือนกระจก” (Greenhouse Effect) ที่มีปริมาณมหาศาลสะสมในชั้นบรรยากาศ
ที่ประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ โอโซน สารคลอโรฟลูออกโรคาร์บอน และฮาโลคาร์บอน นักวิทยาศาสตร์เชื่ออย่างสุดใจว่า “มนุษย์” คือตัวการสำคัญ
“ก๊าซเรือนกระจก” ไม่ได้มาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อคงความสมดุลให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้รถยนต์ หรือการเลือกซื้อของกิน ฯลฯ
ทำให้เกิดการสะสมความร้อนมากเกินไปและอุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น เกิดเป็น “โลกร้อน” Global Warming เมื่อสูงขึ้นจนกระทบธรรมชาติและภูมิอากาศเดิม
จึงกระตุ้นให้เกิดความแปรปรวนกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ บนโลก นั่นก็คือ “โลกรวน” หรือ Climate Change นั่นเอง
ปี 2021 ทั่วโลกสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม ล่าสุด การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์
ถือเป็นเส้นตายที่รัฐบาลจำเป็นต้องบอกให้โลกรู้ว่า จะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมากน้อยแค่ไหน ถึงจะบรรลุเป้าหมายที่เคยตกลงกันที่ปารีสเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ การคงให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส