ผ่าอาณาจักรเครือซีพี "ตระกูลเจียรวนนท์" กับธุรกิจในแดนมังกร

16 ต.ค. 2564 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2564 | 04:16 น.
13.0 k

หลังมีข่าวเเพร่สะพัด "ธนินท์" โอนสัญชาติเป็นจีน เเต่ถูกยืนยันเเล้วว่าไม่เป็นความจริง ฐานเศรษฐกิจ ได้รวบรวมประวัติเเละธุรกิจเครือซีพีกับการประกอบธุรกิจในตลาดประเทศจีน หรือ แดนมังกรมานำเสนอ

ข่าวแพร่สะพัดสะเทือนสะเทือนวงการธุรกิจและสังคมไม่น้อยสำหรับกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนเกี่ยวกับการถือสัญชาติของ“เจ้าสัวธนินท์-นายธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก่อให้เกิดความสับสนและสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมอย่างมาก

ภายหลังสำนักยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการมาว่า ข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริงแต่ประการใด  นายธนินท์ เป็นคนไทย กำเนิดในประเทศไทย และถือสัญชาติไทย

การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด ถือเป็นการละเมิดสิทธิ กระทบต่อชื่อเสียง และเข้าข่ายนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หากยังมีการเผยแพร่ ผลิตซ้ำ หรือส่งต่อ เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ชื่อเล่น ก๊กมิ้น เกิดวันที่ 19 เมษายน 2482 (อายุ 82 ปี) คู่สมรส คือ คุณหญิงเทวี เจียรวนนท์

ดำรงตำแหน่งประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตประธานกรรมการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และมหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บ โดยข้อมูลพฤษภาคม ปี 2021 มีทรัพย์สิน 5.14 แสนล้านบาท ติดอันดับ 81 ของโลก

ประวัติการศึกษา

ชั้นประถมที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จนจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2492

ชั้นมัธยมจนจบในปี พ.ศ. 2494 จากโรงเรียนซัวเถา ประเทศจีน

ชั้นอุดมศึกษาในปี พ.ศ. 2499 จากสถาบันศึกษาฮ่องกงวิทยาลัย

ผ่านการศึกษาอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 1 ปี พ.ศ. 2532

ประวัติการทำงานมีตำแหน่งมากมาย

• กรรมการธนาคารกรุงศรีอยุธยา

• อุปนายกกรรมการทุนธนชาต

• กรรมการทุนธนชาต

• กรรมการไทยออยล์

• อนุกรรมการบริหารอาคเนย์ประกันชีวิต

• อุปนายกกรรมการอาคเนย์ประกันชีวิต

• อุปนายกกรรมการธนาคารไทยธนาคาร

• รองประธานกรรมการธนาคารไทยธนาคาร

• ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

• ประธานกรรมการการ์ตูนเน็ตเวิร์ค ประเทศไทย

• ประธานกิตติมศักดิ์ผู้ทรงเกียรติ หอการค้าไทย-จีน

• ประธานกรรมการเกียรติคุณโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ

• ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย

“เจียรวนนท์” หนึ่งในบรรดาตระกูลใหญ่ไม่กี่ตระกูลในเมืองไทยที่ทรงอิทธิพล และถ้าจะพูดถึงตระกูลนักธุรกิจที่รวยที่สุดในประเทศไทย “เจียรวนนท์” ย่อมเป็นตระกูลที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ในประเทศ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร  “ความร่ำรวย” ของตระกูลนี้ ก็ไม่ได้ลดละ แถมเติบโตแบบก้าวกระโดด

เรื่องราวของตระกูลนี้บอกผ่านหนังสือ "เรื่องเล่าของอาม่า" ตระกูล "เจียรวนนท์" เป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพจากซัวเถา มาอยู่ที่ถนนทรงวาด ทำการค้าการขายโดยเฉพาะเมล็ดพันธ์ผัก จนมาถึงยุคของ "ธนินท์" เขาเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งแคชเชียร์ร้านเจริญโภคภัณฑ์ ก่อนไปสหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย และบริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ต่อยอดธุรกิจขายอาหารแบบครบวงจรนามว่า "เครือเจริญโภคภัณฑ์"

ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือว่าเป็นอาณาจักรอาหารระดับโลก หรือที่เรียกติดปากกันว่า เครือซีพี ครอบคลุมหลายกลุ่ม โดยมีฐานสำคัญอยู่ในไทยและจีน โดยในไทยมี "นายธนินทร์" สร้างอาณาจักรซีพีร่วมกับนายสุเมธ เจียรวนนท์ พี่ชายนายธนินท์ เริ่มตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร จักรยานยนต์และธุรกิจการเงิน ล่าสุดมีนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายนายธนินท์เป็นผู้ดูแลธุรกิจในจีนกลุ่มนี้

ความสำเร็จของธุรกิจเครือซีพีในตลาดจีน ซีพีเป็นบริษัทข้ามชาติ และขายการลงทุนไปต่างประเทศ เป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน ยุคเริ่มต้นนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงผู้ประกาศนโยบายฯดังกล่าวในปลายทศวรรษที่ 1970 โดยในปี ค.ศ.1981

ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหาร ค้าปลีก ยานยนต์ ธุรกิจการเงิน เป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่นั้นมาใช้ชื่อ เจียไต๋ กรุ๊ป หรือที่ภาษาจีนกลางอ่านว่า “เจิ้งต้า” หนึ่งในการดำเนินธุรกิจที่ประเทศจีน ซึ่งก็ได้กลายเป็นชื่อที่คุ้นในประเทศจีนนั้น ซีพีในจีนจัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เฉพาะธุรกิจของเครือฯในจีนมีมูลค่าเกือบ 40% ของยอดขายรวมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั่วโลก

เครือซีพียังร่วมมือกับกลุ่มบริษัทชั้นนำ ด้านการธนาคาร การเงิน และประกันภัยแบบครบวงจรระดับนานาชาติ ในประเทศจีนมี Ping An Insurance (Group) ประกอบด้วยธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจประกันภัยการธนาคาร และการลงทุน CITIC Group Corporation และ Zheng Xin Bank Company Limited ผู้ให้บริการด้านการเงิน และ ITOCHU Corporation ผู้จัดการการเงิน

การลงทุนของญาติในจีน รวมถึงธุรกิจที่ "เซี่ย ปิ่ง" หรือ Tse Ping ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Sino Biopharmaceutical และ CP Pharmaceutical Group มีการผลิตยาออกมาหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ยาชีวภาพและยาเคมีหลายชนิด และเป็นผู้นำการผลิตยาหลายโรค เช่น โรคตับ เนื้องอก โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดโรคกระดูก ระบบย่อยอาหาร โรคภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินหายใจ

แม้ Sino Biopharmaceutical จะเป็นธุรกิจที่ "เซี่ย ปิ่ง" ตั้งขึ้นมาและซีพีเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อย แต่ในเว็บไซต์ cpgroupglobal.com ระบุธุรกิจยาและเวชภัณฑ์เป็น 1 ใน 8 ธุรกิจหลักของซีพี ที่ดำเนินการโดย Sino Biopharmaceutical

"เซี่ย ปิ่ง" เป็นบุตรของ "เซี่ย เจิ้ง หมิง" ซึ่งเป็นพี่น้องของบิดานายธนินท์ เป็นทายาทของตระกูล "นายธนินท์" ที่มีอิทธิพลร่ำรวยและมีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในเอเชีย ใน ปี 2558 นิตยสาร Forbes จัดให้อยู่ในอันดับที่ 949 ในรายชื่อมหาเศรษฐีโลก ด้วยทรัพย์สิน 2,300 ล้านดอลลาร์

"เซี่ย ปิ่ง" ให้ "เซี่ยฉีรุ่น" บุตรสาวขึ้นมารับตำแหน่งประธานแทน ได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักธุรกิจสตรีที่โดดเด่นที่สุดในจีนประจำปี 2018 โดย Forbes China ทางออนไลน์ และมีส่วนในการผลักดันให้ Sino Biopharmaceutical ซื้อหุ้น Sinovac Life Sciences ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทซิโนแวค เมื่อเดือน ธ.ค.2563 จำนวน 515 ล้านดอลลาร์ หรือ 15.03%

ในขณะที่ "เซี่ย ปิ่ง" ยังมีบุตรชายอีกคนชื่อ "เอริค เซี่ย" ที่เป็นผู้บริหารของ CP Pharmaceutical Group และ Sino Biopharmaceutical ซึ่งปัจจุบัน "เอริค เซี่ย" ถือหุ้นใน Sino Biopharmaceutical ใหญ่ที่สุด สัดส่วน 21.47% ในขณะที่ "เซี่ย ปิ่ง" ถือหุ้นอันดับ 3 อยู่ที่ 8.40%  โดยบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2543