Health & Wellness 2025 “เศรษฐกิจสุขภาพไทย” บูม กลุ่มตะวันออกกลางเงินสะพัด

17 ต.ค. 2567 | 05:30 น.

ชี้เทรนด์ Health & Wellness 2025 กับยุทธศาสตร์ Medical Hub ไทยเดินหน้า 4 หมุดหมายขับเคลื่อนประเทศสู่ Wellness Economy จับตา Medical Tourism กลุ่มตะวันออกกลางมาแรงทั้ง คูเวต กาตาร์ UAE ทำเม็ดเงินสะพัด 7 แสนล้าน เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 8.9 หมื่นบาท/คน/ทริป

ดร.กันยารัตน์ กุยสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวบวงจร กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนนโยบาย Medical Hub โดยมีร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติในปี 2568 - 2577 ด้วยยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร พัฒนาระบบนิเวศส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ ด้วยกลไกในการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทย

โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานใน 5 ผลผลิตหลัก ได้เเก่ 1.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2.ศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล (Medical Service Hub ) 3.ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) 4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) 5.ศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Convention and Exhibition Hub)

สำหรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ประกอบด้วย 4 หมุดหมายหลัก ได้แก่

Health & Wellness 2025 “เศรษฐกิจสุขภาพไทย” บูม กลุ่มตะวันออกกลางเงินสะพัด

1.ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) ซึ่งประเทศไทยเป็นเป้าหมายในอันดับต้นๆ ของกลุ่มคนต่างชาติที่เลือกเข้ามารักษาพยาบาล และมูลค่าการใช้จ่ายมากขึ้นตามลำดับทุกปี

2.ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Valley) ประเทศไทยมีศูนย์การแพทย์ที่อยู่ภายใต้การทำงานของมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก มีแพทย์ที่เก่งระดับโลกประจำอยู่ สามารถรองรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ต้องการการดูแลฟื้นฟูสุขภาพในระยะยาว ทั้งยังมีศักยภาพสามารถพัฒนาเรื่องเวลเนสได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

3.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) เชื่อว่าในอนาคตสถานประกอบการเรื่องสุขภาพจะขยายขอบเขตต่อยอดไปได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งแพทย์หรือบุคคลที่ไม่ใช่กลุ่มแพทย์สามารถให้บริการได้หลากหลายธุรกิจหากผ่านการอบรมมาแล้ว โดยเป็นศูนย์ดูแลสุขภาพที่แยกออกมาจากสถานประกอบการพยาบาลอย่างชัดเจน เชื่อมโยงหรือทำงานร่วมกันกับโรงแรมหรือร้านอาหารได้

4.ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพรนวัตกรรม (Herbal Product Innovation Hub) เรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐได้ MOU กับมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย เพื่อนำไปสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ

Health & Wellness 2025 “เศรษฐกิจสุขภาพไทย” บูม กลุ่มตะวันออกกลางเงินสะพัด

“เศรษฐกิจเวลเนสหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องแน่นอนว่า ยังมีเรื่องของไลฟ์สไตล์ การกินดี อยู่ดี การออกกำลังกาย ที่จะช่วยให้ผู้ใช้บริการลดโอกาสการเกิดโรค NCDs ทำให้คนสุขภาพดี มีชีวิตที่ดีแบบองค์รวม นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจได้จริง”
 
ดร.กันยารัตน์ กล่าวอีกว่า ความหมายและความสำคัญของเศรษฐกิจเวลเนส (Wellness Economy) คือการรวมอุตสาหกรรมที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถ นำกิจกรรมและวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้ ทั้งสินค้าและบริการ ซึ่ง Global Wellness Institute (GWI) ได้แบ่งเศรษฐกิจเวลเนสเป็น 11 สาขา โดยประเทศไทยในปี 2565 มี 4 ลำดับแรกที่สร้างมูลค่าการตลาดมากกว่า 87% คือ 1. Healthy Eating, Nutrition, & Weight Loss 2. Wellness Tourism 3. Personal Care & Beauty และ 4. Traditional & Complementary Medicine

เมื่อเปรียบเทียบสาขาเศรษฐกิจเวลเนสของไทยกับกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกและของโลก โอกาสของเวลเนสของไทยคือ อาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและความงาม การท่องเที่ยว รวมแล้วมีสัดส่วนกว่า 68% เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตัวและขยายตลาดได้อีกมาก

จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การจัดกลุ่มธุรกิจการแพทย์ (Health) มีบริษัทมหาชนในกลุ่มนี้ 25 บริษัท (พ.ศ. 2567) ในรายงานจบการเงินของบริษัทในกลุ่มจะเเจกแจงรายได้จากการรักษาพยาบาล และต้นทุนการรักษาพยาบาลไว้ด้วย โดยบริษัทในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ (Revenue) 1 ล้านล้านบาท เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาด้วยความประสงค์เกี่ยวกับเรื่อง Medical Tourism จากภาพรวมราว 7 แสนล้านบาท ขณะที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และธนาคารแห่งประเทศไทยสำรวจการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศในปี 2565 พบว่า รายได้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยชาวต่างชาติและรายรับส่วนใหญ่ มาจากประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ 1. คูเวต 19% 2. กาตาร์ 10% 3. เมียนมา 10% 4. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 8% 5. กัมพูชา 6% และอื่นๆ 46%

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางจะชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยมาก และเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด นิยมเดินทางมาใช้บริการกิจกรรมนวดสปา โดยจำนวนที่พบมากที่สุดมาจากอิหร่าน 67.5% ใช้จ่ายประมาณ 8.5 หมื่นบาท/คน/ทริป ถัดมาคือ ซาอุดีอาระเบีย 66.9% ใช้จ่าย 1.16 แสนบาท/คน/ทริป, คูเวต 64.5% ใช้จ่ายราว 9 หมื่นบาท/คน/ทริป, โอมาน 64.3% ใช้จ่าย 6.8 หมื่นบาท/คน/ทริป และ UAE 62.2% ใช้จ่ายราว 9 หมื่นบาท/คน/ทริป

เรียกได้ว่าปี 2567 รายได้จากนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางคิดเป็น 65.5% เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 8.9 หมื่นบาท/คน/ทริป ถือเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพของไทยทั้งบริการและผลิตภัณฑ์ ที่จะนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์และต่อยอดไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ ในปี 2568