ประกันสังคม แจงผลงานบอร์ดแพทย์ ยกระดับการรักษา - เพิ่มสิทธิดูแลผู้ประกันตน

17 ม.ค. 2568 | 23:00 น.

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเผยผลสำเร็จคณะกรรมการการแพทย์ในปีที่ผ่านมา ทั้งพัฒนาบริการทางการแพทย์ เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน เช่น โครงการ SSO 515, การรักษาผู้ป่วยโรคไตและมะเร็ง พร้อมส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงการดำรงตำแหน่ง รวมถึงผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคมว่ากระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการ จำนวน 16 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ

 

พลตำรวจโท ธนา ธุระเจน

ทั้งด้านวิชาชีพเวชกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข รวมถึงด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ซึ่งมีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้แทนผู้ประกันตนเข้าร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ คณะกรรมการการแพทย์ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 16) ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี โดยตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคมได้พัฒนาแนวทางการจัดระบบบริการทางการแพทย์ และปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นคง ให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีผลงานที่สำคัญดังนี้

1. ด้านยกระดับและพัฒนาบริการทางการแพทย์

1) โครงการ SSO 515 โดย บันทึกข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ โดยยกระดับการรักษา 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง นิ่วในไตและถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูกหรือรังไข่ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลกว่า 76 แห่ง

2) เพิ่มสิทธิประโยชน์และด้านบริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโรคไต โดยเพิ่มสิทธิผู้ป่วยโรคไต สามารถฟอกไตด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์ การเตรียมหลอดเลือดหรือสายสวนหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

 

ประกันสังคม แจงผลงานบอร์ดแพทย์ ยกระดับการรักษา - เพิ่มสิทธิดูแลผู้ประกันตน

3) เพิ่มสิทธิการตรวจคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค และการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา โดยเพิ่มสิทธิการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาด้วยวิธี Molecular assay ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมยังสนับสนุนค่ายาสำหรับการรักษาผู้ประกันตนที่ติดเชื้อวัณโรคดื้อยา เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรค โดยให้สถานพยาบาลจ่ายค่ายาในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาสิทธิประกันสังคม อ้างอิงสูตรยาตามแนวทางมาตรฐานที่กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

4) เพิ่มสิทธิการตรวจ Sleep TEST และการรักษาด้วยเครื่อง CPAP โดยสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ให้สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีการใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) ประกอบด้วย ค่าตรวจการนอนหลับเท่าที่จ่ายจริง ค่าเครื่องอัดอากาศหายใจเข้าเท่าที่จ่ายจริง และค่าหน้ากากครอบจมูก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกันตน ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยป้องกันหรือควบคุมความดันในโลหิตสูง

5) เพิ่มการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ 3 รายการ ได้แก่ รายการกะโหลกศีรษะเทียม การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง (Plasma Rich Growth Factor (PRGF)) และการผ่าตัดใส่ลูกตา ซึ่งการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง และการผ่าตัดใส่ลูกตาเทียม เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์โดยให้มีการนำร่อง เป็นระยะเวลา 1 ปี

6) เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็ง ตามโครงการ SSO cancer care เป็นโครงการที่เพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการยังสถานพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็ง ที่มีศักยภาพตามที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติม นอกเหนือจากสถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิดตามแนวทางการรักษา (Protocol) และกรณีนอกเหนือแนวทางการรักษา (Non-Protocol) รวมถึงการสนับสนุนค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาฮอร์โมนและค่ายามุ่งเป้า ซึ่งเป็นยาราคาสูง ที่อยู่ในบัญชียา จ(2) รวมถึงการจ่ายเพิ่มเติมค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ใน 2 รายการ คือ Ribociclib และ Palbociclib เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพให้ผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง

2. ด้านส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของผู้ประกันตน

1) พัฒนากลไกการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมได้บันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิที่มากขึ้น รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อไม่ให้มีการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อน รวมถึงการปรับปรุงรายการและขยายช่วงอายุ เพิ่มความถี่และรายการตรวจสุขภาพ เช่น ผู้ประกันตนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป จะได้รับการตรวจเลือดทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพ และเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค

2) เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพจากรายการตรวจพื้นฐาน 14 รายการ โดยตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการและเขตชุมชน ในปี 2566 มีผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพ จำนวน 1,251,186 ราย และในปี 2567 มีผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพ จำนวน 1,311,710 ราย รวมถึงขยายสิทธิให้สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ผู้ประกันตนสำหรับผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า นอกจากผลงานดังกล่าว คณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม ยังได้พิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์รายการอื่นๆ เช่น การปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน การเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อการเข้าถึงยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคม รวมถึงคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม พร้อมปฏิบัติงานโดยมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานเป็นสำคัญ

 

ประกันสังคม แจงผลงานบอร์ดแพทย์ ยกระดับการรักษา - เพิ่มสิทธิดูแลผู้ประกันตน

ประกันสังคม แจงผลงานบอร์ดแพทย์ ยกระดับการรักษา - เพิ่มสิทธิดูแลผู้ประกันตน

ประกันสังคม แจงผลงานบอร์ดแพทย์ ยกระดับการรักษา - เพิ่มสิทธิดูแลผู้ประกันตน