ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ กุญแจสำคัญหลังผ่าตัด ช่วยลดเสี่ยงกลับมาป่วยซ้ำ

13 ธ.ค. 2567 | 13:00 น.

โรคหัวใจ หลายคนเข้าใจว่า หากการผ่าตัดผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ก็เท่ากับผู้ป่วยได้รับการรักษาหาย ไม่มีอะไรน่ากังวลอีก แต่ความจริงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญมากนั่นคือ การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจหลังการผ่าตัด

วิธีการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่า การผ่าตัดบายพาส ผู้ป่วยต้องเผชิญกับอาการเจ็บแผลผ่าตัด บางรายอาจรู้สึกเจ็บแผลรุนแรง ทำให้ไม่สามารถขยับตัวเคลื่อนไหว หรือไอขับเสมหะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ภาวะปอดแฟบ ปอดติดเชื้อ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ เป็นต้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่แพทย์แนะนำผู้ป่วยให้ทำการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้เจอกับภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดดังที่กล่าวมา และเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการฟื้นฟูฯ แพทย์จะทำการประเมินอย่างละเอียด และออกแบบโปรแกรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะผู้ป่วยใน เป็นการดูแลฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตภายนอกโรงพยาบาลได้อีกครั้งโดยเร็วที่สุด
  2. ระยะผู้ป่วยนอก เป็นการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายในด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหัวใจ และช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปมากที่สุด
  3. ระยะคงสภาพ เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย โดยมีเป้าหมายในการคงไว้ซึ่งสมรรถภาพการทำงานที่ดีของหัวใจ

 

พญ. ศิรประภา ลิ้มประเสริฐ

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ มักจะถูกมองข้ามหรือละเลย ทั้งที่ความจริงแล้วนี่คือกุญแจสำคัญ สู่การกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดย พญ. ศิรประภา ลิ้มประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ตั้งแต่ระยะที่ 2 เป็นต้นไปว่า เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย แต่ยังเป็นการวางแผนป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหัวใจด้วย เนื่องจากปัจจุบัน ยังมีความเข้าใจผิดที่น่ากังวล อย่าง ‘คนเป็นโรคหัวใจ ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ไม่ควรขยับร่างกายเยอะ’ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะหัวใจของคนเราจะแข็งแรงได้ ต้องหมั่นออกกำลังกาย การไม่ขยับเคลื่อนไหวจะทำให้หัวใจมีสุขภาพแย่ลง

ตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจระยะที่ 2 ตามโปรแกรมที่ออกแบบโดยแพทย์นั้น ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในทุกขั้นตอนของการออกกำลังกาย ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การวัดสัญญาณชีพเป็นระยะ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดการออกกำลังกาย การดูแลเรื่องระดับความหนักในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอันตราย สามารถรู้ขีดจำกัดของตัวเอง เพื่อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นโรคซ้ำด้วย

 

ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ กุญแจสำคัญหลังผ่าตัด ช่วยลดเสี่ยงกลับมาป่วยซ้ำ

 

นอกจากนี้ หากการฟื้นฟูตามโปรแกรมมีความคืบหน้าได้ด้วยดี หรือผู้ป่วยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูที่ค่อนข้างท้าทาย เช่น ต้องการกลับไปออกกำลังกายอย่างจริงจังในอนาคต ก็สามารถวางแผนเพิ่มโปรแกรมในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในภายหลังได้

แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลเมดพาร์ค มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจทั้ง 3 ระยะ ซึ่งออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน มียิมออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ ผู้ป่วยจะได้รับการดูแล รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหวิชาชีพ ที่มีความชำนาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจตลอดการเข้าโปรแกรม