สธ.คว้า 2 รางวัลไอทีระดับโลก ตอกย้ำไทยผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ

08 พ.ย. 2567 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2567 | 11:01 น.

รองปลัด สธ. นำคณะผู้แทนประเทศไทยเข้ารับรางวัล ASOCIO Awards 2024 จำนวน 2 สาขา กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผ่านผลงานด้านไอที "Financial Data Hub - Health Rider" ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสุขภาพ

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนประเทศไทย เข้ารับรางวัล ASOCIO Awards 2024 ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ ASOCIO (Asian-Oceanian Computing Industry Organization) ที่ประกอบด้วยสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการ จาก 24 ประเทศในภาคพื้นเอเชียโอเชียเนีย ระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรม ANA Intercontinental กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 สาขา ดังนี้

1. สาขา HealthTech Award in Public Sector โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ จากโครงการ Financial Data Hub

2. สาขา Environmental, Social & Governance: ESG Award in Public Sector โดยสำนักงานสุขภาพดิจิทัล จากโครงการ Health Rider ภายในงานประชุม ASOCIO Digital Summit 2024

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า การรับรางวัล ASOCIO Awards 2024 ทั้ง 2 สาขาดังกล่าว เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสุขภาพของประเทศไทยซึ่งไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจแต่คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนด้วยเทคโนโลยี

สำหรับ Financial Data Hub เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงินของกระทรวงสาธารณสุขที่เชื่อมข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน นำมาสู่การวิเคราะห์ วางแผน และบริหารจัดการข้อมูลด้านการเงินในระบบสุขภาพที่ชาญฉลาด ช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด

สธ.คว้า 2 รางวัลไอทีระดับโลก ตอกย้ำไทยผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ ขณะที่ Health Rider เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วจัดส่งยา/เวชภัณฑ์จำเป็นให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน ช่วยให้การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

นพ.วีรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานทั้ง 2 โครงการ ยังสอดรับกับนโยบายสำคัญปี 2568 ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีเป้าหมาย "ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง"

สธ.คว้า 2 รางวัลไอทีระดับโลก ตอกย้ำไทยผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำนโยบายด้านสุขภาพดิจิทัลมาปฏิบัติจริง ภายใต้การกำกับการดำเนินงานของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องอาศัยข้อมูล Big Data มาวิเคราะห์ในการวางแผนดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งสามารถนำข้อมูลจากระบบ Financial Data Hub มาใช้วิเคราะห์มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงใช้เป็นข้อมูลผลสัมฤทธิ์เชิงประจักษ์ในอนาคต

ทั้ง Financial Data Hub และ Health Rider ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่รวดเร็วและซับซ้อน

ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพของประเทศไทย และเป็นการยกระดับประเทศไทยสู่เวทีเทคโนโลยีสุขภาพระดับโลก รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้ร่วมมือกับนานาชาติในการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพต่อไป นพ.วีรวุฒิ กล่าว