มหิดลพัฒนา AI ติดตามสุขภาพผู้ป่วย 24 ชม.

28 ก.ย. 2567 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2567 | 14:01 น.

ม. มหิดล ร่วมกับทีมวิจัย ม. เวอร์จิเนีย พัฒนา AI ติดตามสุขภาพผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี IIoT เหมือนมี “ผู้ช่วย” คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

อาจารย์ ดร.ณัฐฐ หอมดี อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมและชีวการแพทย์สารสนเทศ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (Virginia University) สหรัฐอเมริกา

พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ติดตามสุขภาพผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี IIoT ที่เชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ให้เหมือนมี “ผู้ช่วย” ที่คอยดูแลตั้งแต่การรับประทานยาตามเวลาและอาการที่เหมาะสม ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมให้ไม่ส่งผลต่ออาการของผู้ป่วย

อาจารย์ ดร.ณัฐฐ หอมดี

จากการทดลองติดตามผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับ “ความเจ็บแบบเฉียบพลัน” (Breakthrough Pain) ซึ่งมีระดับที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี IIoT คอยติดตามว่าเกิดในช่วงใด และมีปัจจัยแวดล้อมอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทีมแพทย์ในการให้คำแนะนำที่เหมาะสม

ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้อาการกำเริบ อาจเป็นได้ทั้งจากแสง เสียง และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ฯลฯ จนส่งผลให้เกิด “ความเครียด” ที่อาจส่งผลทำให้อาการของโรคมะเร็งทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ โดยเป็นเฟสแรกของงานวิจัยที่จะขยายผลไปสู่การออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหา (Intervention) ได้อย่างตรงจุดในก้าวต่อไป

ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก National Institute of Health (NIH) สหรัฐอเมริกา จนคาดว่าจะสามารถใช้เป็น “แพลตฟอร์ม” ออกแบบชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ อาทิ ไมเกรน ภูมิแพ้ และโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องได้ต่อไปในอนาคต

มหิดลพัฒนา AI ติดตามสุขภาพผู้ป่วย 24 ชม.

นอกจากนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG3 เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน (Good Health & Well - being) และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG17 (Partnerships for the Goals)

ด้วยภารกิจที่มุ่งมั่นผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมและชีวการแพทย์สารสนเทศ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็น “ศูนย์กลางข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ”

มหิดลพัฒนา AI ติดตามสุขภาพผู้ป่วย 24 ชม.

ที่เปิดกว้างให้ทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องได้เข้าถึงองค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างไร้ขีดจำกัดทางโลกออนไลน์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตาม SDG10 (Reduced Inequalities) ต่อไปในอนาคต 

วงการแพทย์กำลังให้น้ำหนักต่อการพัฒนาเทคโนโลยี IIoT  เนื่องจากมีความสำคัญต่อโลกยุคใหม่ที่แข่งขันกันด้วย “ศักยภาพแห่งโซลูชันส์” สู่ทางออกของปัญหา ด้วยนวัตกรรม AI ติดตามสุขภาพผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยี IIoT ที่ออกแบบไว้อย่างครอบคลุมทุกความต้องการดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้รับการดูแลโดยแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันผ่าน “สมองอัจฉริยะ” ของ AI ที่สร้างขึ้นด้วยสมองและสองมือของมนุษย์