“โรคอัลไซเมอร์” ภัยใกล้ตัวสังคมสูงวัย แนวโน้มสูงถึง 1 ล้านคน

24 ก.ย. 2567 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2567 | 05:30 น.

สภากาชาดไทย จัดงาน “Me-mory เพราะความจำฉันนั้นสำคัญ ร่วมป้องกันอัลไซเมอร์” ตระหนักรู้ถึงภาวะสมองเสื่อม เพราะเป็นภัยใกล้ตัวสังคมสูงวัย อาจพบได้มากถึง 1 ล้านคน ในอนาคต

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มของภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 50-70 % ของกลุ่มผู้ที่เป็นภาวะสมองเสื่อม ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ป่วยทั่วโลกราว 55 ล้านคน และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 78 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยสัดส่วนในไทยมีผู้ป่วยอยู่ที่ประมาณ 9 แสนคน และอาจมีมากถึง 1 ล้านคน ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า  

จากแนวโน้มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสังคมไทยกําลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย การตระหนักถึงความสำคัญและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ และความตระหนักรู้ในการป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์จึงเป็นสิ่งสำคัญสําหรับทุกคน เพื่อเตรียมรับมือจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยผู้ที่กำลังเข้าสู่อายุสูงวัยต้องมีความเข้าใจ และมีทักษะในการดูแลตัวเอง  ดูแลสุขภาพจิต และสุขภาพสมองเพื่อป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อม ผู้ดูแลหรือคนรอบข้างก็ต้องคำนึงและเข้าใจถึงวิธีการในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

เนื่องในโอกาส “วันอัลไซเมอร์โลก” ในวันที่ 21 กันยายน ประจำปี พ.ศ. 2567 ทางชมรมสมองใสใจสบาย ภายใต้ศูนย์ดูแลสภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดงาน “Me-mory เพราะความจำฉันนั้นสำคัญ ร่วมมือป้องกันอัลไซเมอร์” โดยมี รองศาสตราจารย์นายแพทย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นประธาน ส่วนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับการประเมินภาวะสมองเสื่อมและซึมเศร้าเบื้องต้น นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมเสวนา 5 หัวข้อ คือ 

“โรคอัลไซเมอร์” ภัยใกล้ตัวสังคมสูงวัย แนวโน้มสูงถึง 1 ล้านคน

หัวข้อที่ 1: รู้ทันความเสี่ยงและการรักษาใหม่สำหรับโรคอัลไซเมอร์ เป็นกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน รวมไปถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ หูตึง การรับกลิ่นที่ผิดปกติ ปัญหาการนอน และมลพิษฝุ่น PM2.5 พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์  

หัวข้อที่ 2: ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างเข้าใจและเป็นสุข เสวนาถึงอาการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และความสำคัญของผู้ดูแล รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้อง

หัวข้อที่ 3: กิจกรรมเพื่อการบำบัดโรคอัลไซเมอร์ ที่ทำให้เข้าใจถึงแนวทางในการฝึกฟื้นฟูผู้ป่วยผ่านการออกกำลังกายและการบริหารร่างกาย และการใช้ดนตรีบำบัดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ 

หัวข้อที่ 4: ดูแลสมองและสุขภาพจิต สไตล์สมองใสใจสบาย นำเสนอภาพรวมกิจกรรมต่างๆ ของชมรมสมองใสใจสบายตลอดปีที่ผ่านมาและกิจกรรมที่ชมรมจะจัดให้กับสมาชิกในอนาคต เพื่อป้องกันอัลไซเมอร์ อาทิ รำไทย บอร์ดเกมส์ การปรุงอาหารรักษ์สมอง ฯลฯ

หัวข้อที่ 5: เสวนาภาพยนตร์ ชวนดูภาพยนตร์เรื่อง “แม่น้ำสีทอง” เป็นกิจกรรมเสวนาโดยนำเสนอมุมมองจากภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของครอบครัวในการเข้าใจผู้สูงวัยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม 

“โรคอัลไซเมอร์” ภัยใกล้ตัวสังคมสูงวัย แนวโน้มสูงถึง 1 ล้านคน

ทั้งนี้ ชมรมสมองใสใจสบาย ได้เชิญชวนให้ร่วมกันบันทึกความทรงจําที่ดีของตัวเองก่อนที่คุณจะลืม ด้วยการบอกเล่า “ความทรงจําที่ดีที่สุด ที่เป็นเรื่องราวที่ไม่อยากลืมเลือน” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความทรงจําที่สําคัญและมีคุณค่า และเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว

ชมรมสมองใสใจสบาย ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นชมรมฯ ที่ไม่แสวงผลกำไรหรือผลประโยชน์เชิงธุรกิจ โดยมุ่งส่งเสริมให้คนในสังคมตระหนักรู้ เข้าใจและมีทักษะในการดูแลตัวเอง  ดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพสมองเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุสูงวัย อีกทั้งยังส่งเสริมการสร้างภาวะสุขภาพจิตที่ดีของสมาชิกในชมรมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ เวิร์คช็อป เสวนาวิชาการประเด็นทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต ฯลฯ