The Economist ยกย่อง "30 บาท" ระบบสาธารณสุขไทย มีประสิทธิภาพสุดในโลก

14 ก.ย. 2567 | 10:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2567 | 10:53 น.

"พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนต เผยบทความนิตยสาร The Economist ชื่นชมระบบสาธารณสุขไทยว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก โดยเฉพาะโครงการ 30 บาท ช่วยให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี สูงกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้หลายประเทศสนใจนำไปปรับใช้

นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงบทความจากนิตยสาร The Economist เรื่อง "Why is Thai health care so good?" ซึ่งยกย่องระบบสาธารณสุขของประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในระบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยระบุว่าความสำเร็จนี้มีรากฐานจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ "30 บาทรักษาทุกโรค" ที่เริ่มขึ้นในปี 2545

บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใกล้เคียงกับชาวอเมริกันและยุโรป อีกทั้งประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพแก่ประชากรกว่า 99.5% แม้ว่ารายได้ต่อหัวของคนไทยจะต่ำกว่าคนอเมริกันถึง 11 เท่า

โดยระบบหลักประกันสุขภาพนี้เน้นการดูแลผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบแรงงานอย่างทั่วถึง ด้วยค่ารักษาเพียง 30 บาท ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ โครงการยังครอบคลุมการรักษาโรคหลากหลาย ตั้งแต่โรคเอดส์ (HIV/AIDS) ไปจนถึงโรคไต ซึ่งเพิ่มความนิยมให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร อย่างมาก ระบบนี้ได้รับเงินทุนจากภาษี และยังคงมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปัจจุบันมีหลายประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่แสดงความสนใจและลงนามความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับไทย รวมถึงมีการเจรจาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการสูงวัยของประชากรไทยซึ่งมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ รัฐบาลจึงได้พยายามเพิ่มจำนวนแพทย์ในภาครัฐและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มเติม แต่ถึงกระนั้น ระบบสาธารณสุขของไทยยังคงเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 

ที่มา