"AES" ผุด SPORTTECH & Wellness Asia 2024 ดันจีดีพีอุตสาหกรรมกีฬาโต 3%

19 ก.ค. 2567 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2567 | 15:06 น.

"AES" ผุด SPORTTECH & Wellness Asia 2024 ดันจีดีพีอุตสาหกรรมกีฬาโต 3% เดินหน้ากระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์สินค้ากีฬา ฟิตเนส ศูนย์ค้าปลีกกีฬา มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน

นางสาวปุณณภา วราอ่อนสาร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด (AES) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินชับเคลื่อน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านงาน SPORTTECH & Wellness Asia 2024 

ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์สินค้ากีฬา ฟิตเนส ศูนย์ค้าปลีกกีฬา ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกีฬาโดยรวม ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะเน้นการจัดงานเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การมีสุขภาพที่ดี เพราะการมีสุขภาพดีจะมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้ด้วย โดยมีผู้มาร่วมงานประมาณ 80 แบรนด์ และมีผู้ประกอบการ ผู้ผลิตจากไทยและต่างประเทศ อาทิ จีน เกาหลีใต้ อังกฤษและเยอรมนี และจะมีการเปิดตัวนวัตกรรมการออกกำลังกายครั้งแรกจากสวิตเซอร์แลนด์ภายในงาน
 

สำหรับงานดังกล่าวนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่รักสุขภาพ ชื่นชอบการเล่นกีฬา ฟิตเนส และความเป็นอยู่โดยรวม โดยมีผู้แสดงสินค้า การแสดงผลิตภัณฑ์ ประสบการณ์เชิงโต้ตอบ และเซสชันการศึกษาที่หลากหลาย โดยนิทรรศการดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนใครในการสำรวจเทรนด์ล่าสุด เชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และค้นพบผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ 

"AES" ผุด SPORTTECH & Wellness Asia 2024 ดันจีดีพีอุตสาหกรรมกีฬาโต 3%

นางบงกชรัตน์ โมลี ผู้อำนวยการกองนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมขับเคลื่อนการอุตสาหกรรมกีฬากับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ไทยเกิดสังคมกีฬา ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกีฬาโดยรวม 

ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าและเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของจีดีพี (GDP) ประเทศโดยข้อมูลปี 2562 พบว่า ภาคท่องเที่ยวเป็น 18% ของ GDP อุตสาหกรรมการกีฬาอยู่ที่มากกว่า 1% โดยกระทรวงฯมีเป้าหมายทำให้ผลักดันด้านกีฬาให้ไปถึง 3% ด้านท่องเที่ยว 25% รวมเป็น 28%  อีกทั้งมุ่งผลักดันให้ประชาชนออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีประชาชนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียง 42% แต่จะผลักดันให้เพิ่มถึง 50%
 

รศ. ดร.วรรณชลี โนริยา นายกสมาคม สมาคมการจัดการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยนำไปปฏิบัติให้ถูกทาง ผลักดันให้ออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิต ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทยให้เป็นส่วนของ GDP ประเทศได้ 

โดยทิศทางอุตสาหกรรมกีฬาของไทยมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากซบเซาลงไปในช่วงสถานการณ์โควิด อุตสาหกรรมการกีฬาเป็นเรื่องของทุกคนให้สุขภาพเป็นตัวนำ เมื่อทุกคนออกกำลังกาย ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้ ก็จะเป็นโอกาสของความเติบโตของเศรษฐกิจประเทศและอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศ 

นายTan Hai Yong  ประธานกรรมการบริหาร ผู้ก่อตั้ง บริษัท Eco Lifestyle Fitness (Thailand) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีไอทีและ AI องค์ความรู้ในอีกซีกโลกหนึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศและตลาดกีฬาไทยได้ 

"ภาพรวมการเติบโตของตลาดสินค้ากีฬาและฟิตเนสไทยยังมีการเติบโต ซึ่งจะคล้ายคลึงกับสิงคโปร์ที่มีการขับเคลื่อนมาจากการใช้อินเทอร์เน็ตและ AI โดยคาดว่าจะมีการเติบโตราว 60% ภายใน 3 ปี ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดวันที่ 2-3 ส.ค. 67 ที่หอพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์"