คนไทยป่วยมะเร็งปอด 64 คนต่อวัน เสี่ยงเสียชีวิตภายใน 5 ปี

12 ก.ค. 2567 | 15:59 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2567 | 19:34 น.

คนไทยป่วยมะเร็งปอดรายใหม่วันละ 64 คน แม้ไม่สูบบุหรี่-ไม่ได้รับฝุ่น PM2.5 อัตราการเสียชีวิตติดอันดับ 2 ของประเทศ มากกว่าอุบัติเหตุบนถนน 6 เท่า และกว่าร้อยละ 80 เสียชีวิตภายใน 5 ปี

ศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อายุรแพทย์สาขามะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย และ ประธานคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทยภายใต้มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์มะเร็งปอดในปัจจุบันนับเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่น่าเป็นห่วงของประเทศไทย และมีผลต่อการเพิ่มภาระทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในเพศชายและอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 2.3 หมื่นคน หรือวันละ 64 คน เป็นเพศชายประมาณ 1.5 หมื่นคนและเพศหญิง 8,294  คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.9 หมื่นคน หรือคิดเป็น 54 คนต่อวัน นับเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์ และอัตราการเสียชีวิตที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย แม้ว่ามะเร็งปอดจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้น้อยมาก เป็นปัญหาที่ทางสาธารณสุขควรเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น

  1. ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ซึ่งร้อยละ 85 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่ ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผล ได้แก่ การได้รับมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5, การเผาถ่าน, การสัมผัสกับก๊าซเรดอน และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ เช่น แร่ใยหิน โครเมียมและรังสี
  2. ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงสูง

“แต่ละปีคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งสูงกว่าเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 6 เท่า ขณะที่อุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดต่างๆ นำมาซึ่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย  โดยกว่า 80% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเสียชีวิตภายใน 1-5 ปี โรคนี้รักษาหายขาดได้ยาก โดยมักมีอาการไอ เสียงแหบ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก และน้ำหนักลด” 

รศ. นพ. วิเชียร ศรีมุนินทร์นิมิต อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดมี 2 ชนิด 1.มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก และ 2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก วิธีในการรักษาโรคมะเร็งปอดมีหลายวิธีแตกต่างกัน การพิจารณาเลือกวิธีในการรักษาขึ้นกับชนิด และระยะของมะเร็งปอดตลอดจนสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักเพียงการผ่าตัด การฉายแสง หรือ การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีมานานและคนไทยมีความคุ้นชิน   

ปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มีวิวัฒนาการความก้าวหน้าของการรักษาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนวัตกรรมใหม่สามารถรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งมากยิ่งขึ้น และลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัดในรูปแบบเดิม ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพิ่มอัตราการรอดชีวิต หรือสามารถควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น ได้แก่

  1. การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง  (targeted therapy)  หรือการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า โดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ทำให้ให้ประสิทธิผลในการรักษาดีขึ้นและและมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อย และ
  2. การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) เป็นยากลุ่มใหม่ล่าสุดที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยจะมีรูปแบบการบริหารยาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือดดำผ่านทางสายน้ำเกลือ

ขณะที่ นายแพทย์ ยศวัจน์ รุ่งโรจน์วัฒนา อายุรแพทย์ สาขามะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า สำหรับยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่นำมารักษาคนไข้มะเร็งปอดทั้งในส่วนของเป็นยาเดี่ยว หรือการใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดมีประสิทธิภาพที่ดีและมีผลข้างเคียงที่ควบคุมได้ โดยยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดแต่เดิมจะบริหารยาด้วยวิธีฉีดเข้าเส้นเลือดดำแต่ในปัจจุบันมีนวัตรกรรมใหม่ที่นำ Halozyme Therapeutics’ drug delivery technology (Enhanze®; rHuPH20) มาใช้ในการนำส่งยาซึ่งในอดีตการฉีดยาใต้ผิวหนังจะสามารถที่จะฉีดยาได้ปริมาณเพียง 1-2 มิลลิลิตร แต่ด้วยนวัตกรรมใหม่ ทำให้สามารถเพิ่มการนำส่งยาใต้ผิวหนังได้ปริมาณที่มากขึ้นและสามารถนำนวัตกรรมนี้มาใช้ในยาหลากหลายไม่ว่าเป็นยารักษามะเร็ง ยาเบาหวาน รวมถึงยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด

จากการศึกษาทางคลินิก พบว่าการให้ยาด้วยวิธีทางใต้ผิวหนัง เทียบกับการให้ยา ทางหลอดเลือดำมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ไม่แตกต่างจากการบริหารยาชนิดฉีดด้วยวิธีเดิม แต่สามารถที่จะลดระยะเวลาในการบริหารยาได้ลดลงจาก 1 ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ 7 นาที

“ระยะเวลาในการบริหารยาลดลงทำให้ คนไข้สามารถที่จะกลับบ้านได้อย่างรวดเร็ว สามารถไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามที่ต้องการ ส่วนโรงพยาบาลและบุคลลากรทางการแพทย์สามารถที่จะช่วยเหลือคนไข้ หรือสามารถที่จะเพิ่ม ประสิทธิภาพของหน่วยมะเร็งได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การบริหารยาด้วยวิธีการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง จำเป็นจะต้องวางแผนการรักษา ระหว่าง อายุรแพทย์โรคมะเร็งกับคนไข้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้” 

นายแพทย์ ยศวัจน์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ ส่วนใหญ่จะตรวจพบในระยะลุกลามแล้ว ทำให้การรักษายากขึ้นแม้ประเทศไทยจะมียารักษาที่ดีติดอันดับโลก อีกทั้งความเหมาะสมในการรักษาของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ต้องดูว่าคนไข้ตอบสนองต่อการรักษาแบบไหนเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ส่วนการเข้าถึงยาหรือรูปแบบการรักษาจะเป็นไปตามกลไกลของตลาด หากทางเลือกการรักษาขยายตัวมากขึ้นค่าใช้จ่ายก็จะน้อยลงไปตามสถานการณ์