"สสส." ผนึกภาคีเครือข่ายสร้างนวัตกรรมดันสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน

04 ก.ค. 2567 | 18:13 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2567 | 18:13 น.

"สสส." ผนึกภาคีเครือข่ายสร้างนวัตกรรมดันสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ชี้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในระดับประเทศ ระบุกุญแจดอกสำคัญต้องเป็นชุมชนที่มีชีวิตสร้างการมีส่วนร่วม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ปี 2565-2570 และประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth In Charge เปิดเผยว่า ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในระดับประเทศ ดังนั้นโจทย์ของการสร้างสุขภาวะชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย จำเป็นต้องสร้างสุขภาวะเชิงระบบที่ครอบคลุม คือ 1. สุขภาวะของบุคคล (Individual Wellbeing) 2. สุขภาวะสังคม (Social Wellbeing) 3. สุขภาวะของสภาพแวดล้อม (Planetary Wellbeing)  

ทั้งนี้ การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ต้องอาศัยชุมชนท้องถิ่นเป็นโซ่ข้อกลางเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านมิติของมั่นคงทางเศรษฐกิจ อาชีพ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์บุคคล ครอบครัว กับภูมิภาค ประเทศ 

ดังนั้น กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้ชุมชนท้องถิ่นแข็งแรง ที่ไม่เพียงแต่เป็นชุมชนที่น่าอยู่ (Liveable Community) แต่ต้องเป็นชุมชนที่มีชีวิต (Lively Community) สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา เพื่อการดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับองค์ความรู้เพื่อการดำรงชีพ ที่มีความเอื้ออาทร และแบ่งปัน สร้างวัฒนธรรมระดับชุมชน
 

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความท้าทายของการใช้พื้นที่เป็นฐาน คือ ความแตกต่างของบริบทพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจ และการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และกลไกทำงาน ให้เกิดห่วงโซ่ผลลัพธ์ในการกำหนดมาตรการสุขภาพ ทั้งด้านวิถีชีวิต 

"สสส." ผนึกภาคีเครือข่ายสร้างนวัตกรรมดันสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน

และพฤติกรรม ด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม และกายภาพ แผนสุขภาวะชุมชน ขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น ผ่านทุนทางสังคม ศักยภาพของพื้นที่ สถานการณ์ และปัญหาของพื้นที่ ด้วยแนวทาง 1. เสริมความเข้มแข็งระบบการจัดการ พัฒนาพื้นที่ ศูนย์เรียนรู้ รูปแบบ การทำงาน ที่มีความหลากหลาย 

,2.ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ และสถาบันวิชาการ พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือกลไกในรูปแบบต่าง ๆ และ3. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน และบูรณาการ สานพลังและบูรณาการงานของ สสส. อาทิ เหล้า-บุหรี่ ผู้สูงอายุ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม
 

​อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สสส. ทำงานผ่านเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 3,618 แห่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้ข้อมูลพื้นที่เป็นฐานในงานวิจัยชุมชน ด้วยการเก็บ วิเคราะห์ ใช้งาน และเป็นเจ้าของ ผ่าน 4 องค์หลัก ท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ องค์กรชุมชน ผ่านประเด็นสุขภาวะ อาทิ อาหารปลอดภัย ปลูกผักกินเองในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพระดับครัวเรือน 

ส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย จัดการสิ่งแวดล้อม สุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วม นำมาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น และปัจจัยเสริมในการทำงาน ให้เกิดชุมชนท้องถิ่นที่สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้ และสามารถแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นได้ อาทิ ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ลดดื่ม สามารถลดหนี้ครัวเรือน ต.งิม อ.แม่เงา จ.พะเยา เกิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนลดหนี้ ต.ชากไทย อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทรบุรี สามารถจัดตั้งกองทุนการเงินชุมชน ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้