เขตสุขภาพที่ 4 พร้อมรับมือ "ไข้เลือดออก-งูพิษกัด" พุ่งช่วงหน้าฝน

24 มิ.ย. 2567 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2567 | 18:07 น.

"สมศักดิ์" เปิดการประชุมบุคลากรการแพทย์เขตสุขภาพที่ 4 เตรียมพร้อมแนวทางดูแลผู้ป่วย "ไข้เลือดออก -ถูกงูพิษกัด" หลังพบอุบัติการณ์สูงขึ้นช่วงหน้าฝน เผย ปี 66 ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.3 เท่า ขณะที่สถิติถูกงูกัดสูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ 

24 มิถุนายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดูแลผู้ป่วยถูกงูพิษกัดและโรคไข้เลือดออก เขตสุขภาพที่ 4 ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยรวมกว่า 200 คนเข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อันตรายจากการถูกงูพิษกัดและโรคไข้เลือดออก ถือเป็นภัยสุขภาพที่สำคัญเนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูฝน มักจะมีโอกาสถูกสัตว์มีพิษกัดสูงโดยเฉพาะงูพิษ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลจากการถูกงูพิษและสัตว์มีพิษกัดประมาณ 12,000 คน ส่วนการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก พบว่าในปี 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 1.3 เท่า

ดังนั้น หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องมีการทบทวนเตรียมความพร้อมกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีความความชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐาน

ตั้งแต่รับผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาลจนถึงส่งกลับไปดูแลพักฟื้นต่อที่บ้าน รวมถึงการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

เขตสุขภาพที่ 4 พร้อมรับมือ \"ไข้เลือดออก-งูพิษกัด\" พุ่งช่วงหน้าฝน  ด้านนพ.โอภาส กล่าวว่า กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานสถานการณ์ผู้ถูกงูพิษกัด ในปี 2566 ว่า ประเทศไทยพบการตายจากสาเหตุงูกัด จำนวน 26 ราย โดยอยู่ในเขตบริการสุขภาพที่ 4 จำนวน 2 ราย และมีผู้ถูกงูกัด จำนวน 757 ราย จัดอยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่ถูกงูพิษกัดจะมีการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของงูพิษและหากได้รับพิษที่รุนแรงจนพิการหรือเสียชีวิตจะส่งผลกระทบกับดำรงชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก

เขตสุขภาพที่ 4 พร้อมรับมือ \"ไข้เลือดออก-งูพิษกัด\" พุ่งช่วงหน้าฝน

ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2567 ตั้งแต่ 1 มกราคม  - 19 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 36,898 ราย เสียชีวิต  36 ราย เฉพาะเขตสุขภาพที่ 4 มีผู้ป่วยสะสม 2,820 รายเสียชีวิต 8 ราย ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดูแลผู้ป่วยถูกงูพิษกัดและโรคไข้เลือดออก

ในครั้งนี้บุคลากรจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทบทวนองค์ความรู้และแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐาน โดยวิทยากรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมการแพทย์ รวมถึงสามารถขยายผลไปยังเขตสุขภาพอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย ช่วยลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงได้