กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานครผนึกกำลังเอกชน ร่วมงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน 2567 หรือ ASEAN Dengue Day 2024 ภายใต้แนวคิด “Dengue Hero towards Zero Death” เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงอันตรายของไข้เลือดออกที่ใกล้ตัวและวิธีการป้องกันจากโรคไข้เลือดออก พร้อมชวนทุกคนมาเป็น “ฮีโร่” ช่วยกันส่งต่อแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกให้คนรอบตัว เพื่อลดอัตราการระบาดและทำให้ไข้เลือดออกเหลือศูนย์ต่อไป ขานรับนโยบายขององค์การอนามัยโลกที่อัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกจะต้องหมดไปภายในปี 2573
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยอาจพุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ทำให้อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และความชื้นเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการระบาดของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤษภาคม 2567 เข้าใกล้ 30,000 ราย มียอดผู้เสียชีวิต 29 ราย และคาดการณ์ว่าอาจสูงถึง 280 รายในปีนี้ เพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปีอีกด้วย สำหรับแนวทางการป้องกันและวินิจฉัยแล้ว นอกเหนือจากนวัตกรรมชุดตรวจเร็วสำหรับไข้เลือดออก (NS1) และกับดักไข่ยุงลาย กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกนโยบายเร่งรัดการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก 4 ด้าน 1) ด้านการเฝ้าระวังโรค 2) ด้านการป้องกันควบคุมโรค 3) ด้านการวินิจฉัยรักษา และ 4) ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ที่เป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติตามเพื่อป้องกันไข้เลือดออก
การต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกเพื่อหยุดวงจรไข้เลือดออกให้หมดไป และการเห็นถึงคุณค่าของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยนวัตกรรมการป้องกันต่างๆ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้มีสุขภาพดีไปด้วยกันด้วยการร่วมเป็นฮีโร่ในการป้องกันไข้เลือดออก ช่วยกันบอกต่อแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกให้กับคนใกล้ตัว เพื่อเป็นการกระจายความรู้ออกไปเป็นวงกว้างอีกด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เนื่องจากสภาพภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครที่หลากหลายและอาจเอื้อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก กทม.จึงดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน โดยการเฝ้าระวังการเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ชุมชน การปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม จัดทำ Big Cleaning Day ลงพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และย้ำเตือนแก่ประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขทั้ง 50 เขต ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยในการที่ช่วยกระจายความรู้ ร่วมกับการย้ำเตือนถึงวิธีลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายด้วยการมาตรการการป้องกันไข้เลือดออก พร้อมทั้งใช้แอปพลิเคชัน Line ในการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบถึงภัยของไข้เลือดออกและแนวทางในการป้องกันตนเองที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว นอกจากการป้องกันแบบบูรณาการแล้ว อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจะลดลงได้ตามเป้า หากเราทุกคนมาร่วมกันเป็น เดงกี่ ฮีโร่ นำพาชุมชนไปสู่สังคมปลอดไข้เลืออดออกด้วยกัน”
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “คาโอดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและได้ตระหนักถึงภัยร้ายของโรคไข้เลือดออกโดยได้ดำเนินโครงการ “GUARD OUR FUTURE” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อปกป้องให้ผู้คนให้ห่างไกลและปลอดภัยจากยุง ซึ่งในส่วนแรกของโครงการเรามุ่งเน้นในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันศึกษา โดยในปีนี้คาโอได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาฟีเจอร์ “Mosquito Bite Crowdsourcing” ในแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” หรือแอปแจ้งเตือนภัยสุขภาพที่อยู่รอบตัว
ซึ่งดำเนินการโดยเนคเทคสวทช.และกรมควบคุมโรคเพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามาร่วมช่วยกันรายงานสถานการณ์ของยุงตรงพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ จากการทำงาน หรือทำกิจกรรมใด ๆ ได้จากทั่วประเทศ โดยข้อมูลการรายงานนี้ จะนำมาช่วยเสริมการตรวจจับการระบาดในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกต่อไป อีกทั้งคาโอยังให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดระดับประเทศ ได้ทำการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงให้ทางกรมควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่ระบาดจากโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง และในส่วนที่ 2 ของโครงการ คาโอมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อปกป้องผู้คนให้ห่างไกลจากยุงซึ่งล่าสุดในปีนี้คาโอได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่นด้านความปลอดภัยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงได้และไม่รบกวนกิจวัตรประจำวันอีกด้วย”
ภายใต้ความร่วมมือ Dengue-zero ที่มุ่งมั่นในการนำพาประเทศไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกตามกลยุทธ์ที่ส่งเสริมการทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ซึ่งตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมากิจกรรมภายใต้ความร่วมมือนี้ได้สนับสนุนให้เกิดการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกในเชิงรุก ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยในปีนี้แคมเปญ “ยิ่งไม่รู้ ยิ่งต้องป้องกัน” จะมายกระดับการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความอันตรายของโรคโดยได้ ‘วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร’ ศิลปินดาวรุ่งระดับอินเตอร์มาเป็นหนึ่งใน “เดงกี่ ฮีโร่” ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันไข้เลือดออกและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องตนเองและคนใกล้ตัวให้ห่างไกลจากไข้เลือดออก
นายปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ทาเคดามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกผ่านความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในหลากหลายมิติ เพื่อช่วยลดภาระทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม โดยเน้นการสื่อสารที่ให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร คุณครูและนักเรียนในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ ขอขอบคุณกรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร และเหล่าพันธมิตรที่ร่วมกันทำงานเพื่อปกป้องคนไทยจากไข้เลือดออก และเราจะทำงานและเดินหน้าประสานทุกความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการระบาด การเจ็บป่วย และการสูญเสียให้เป็นศูนย์ในไทยให้ได้”