อากาศร้อนทะลุ 40 องศา สปสช. เตือน 4 โรคหน้าร้อนที่ต้องระวังในเด็ก

24 เม.ย. 2567 | 13:29 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2567 | 13:38 น.

อากาศร้อนทะลุ 40 องศา สปสช. เตือน 4 โรคหน้าร้อนที่ต้องระวังในเด็ก หลายโรคที่มาพร้อมกับอากาศร้อนแบบนี้ เนื่องจากมีเชื้อโรคหลายชนิดที่เจริญเติบโตได้ดี

อากาศร้อนทะลุ 40 องศา  สปสช. หรือ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกมาเตือน 4 โรคหน้าร้อนที่ต้องระวัง เนื่องจาก อุณหภูมิประเทศไทยวันนี้ร้อนทะลุ 40 องศา หลายโรคที่มาพร้อมกับอากาศร้อนแบบนี้ เนื่องจากมีเชื้อโรคหลายชนิดที่เจริญเติบโตได้ดี ทั้งยังแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยปะปนมากับอาหารและน้ำดื่มได้

ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยและรักษาความสะอาด โดยอย่างยิ่งต้องดูแลในกลุ่มเด็กเล็กให้มากที่สุด เนื่องจากเป็นวัยมียังภูมิต้านทานร่างกายต่ำ จึงรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

สำหรับ 4 โรคในหน้าร้อนที่ควรระมัดระวังในเด็ก คือ

1.โรคท้องร่วง

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตรซัว พยาธิ ผ่านการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อโรคเข้าไป

อาการ : ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ติดเชื้อในเลือดเสี่ยงต่อการคุกคามถึงชีวิตได้

วิธีป้องกัน : กินอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่, ไม่ทานอาหารที่เก็บไว้นาน โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเปรี้ยว

2.โรคอาหารเป็นพิษ

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อต่างๆที่มาจากพิษแบคทีเรีย เชื้อรา หรือสารเคมีที่ปนเปื้อน มักพบได้จากอาหารที่ไม่สุกสะอาด

อาการ : มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง

การป้องกัน : ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดอาการท้องร่วง เช่น ส้มตำ ยำ ขนมจีน เป็นต้น

อากาศร้อนทะลุ 40 องศา สปสช. เตือน 4 โรคหน้าร้อนที่ต้องระวังในเด็ก

 

3. โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก

สาเหตุ : เกิดจากการที่ผิวหนังถูกแดดแผดเผาจากรังสียูวี

อาการ : ผิวหนังจะแห้ง คันมากและไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นในลักษณะเป็นๆหายๆ

การป้องกัน : สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อนุ่มใช้สบู่อ่อน และใช้ครีมบำรุงผิวเพื่อให้ผิวเกิดความชุ่มชื้น

4. โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

สาเหตุ : เกิดจากอากาศที่ร้อนเกินไปจนทำให้ร่างกายปรับสมดุลอุณหภูมิไม่ได้ จนอาจเกิดอาการฮีทสโตรก

อาการ : ปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัวหายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจจะช็อกจนเสียชีวิตได้

การป้องกัน : ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน และไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงใส่เสื้อ ผ้าสีทึบดํา เพราะจะสะสมความร้อนได้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป หรือในสถานท่ีที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก

เน้นย้ำว่าผู้ปกครองควรระมัดระวังสุขภาพและความสะอาดให้กับเด็กๆ โดยมีหลักสำคัญ คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดของร่างกาย หลีกเลี่ยงอากาศร้อน หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อน โดยอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลมให้บุตรหลานให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ให้ดื่มน้ำมากขึ้นในวันที่มีอากาศร้อนจัดเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ และดูแลสุขอนามัยเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคในหน้าร้อน.

ที่มา: สปสช.