ทำความรู้จัก "โรคอิไตอิไต" เมื่อร่างกายได้รับแคดเมียมมากเกินไป

14 เม.ย. 2567 | 03:52 น.

ทำความรู้จัก "โรคอิไตอิไต" หรือ Itai-itai disease" โรคที่มีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายได้รับแคดเมียมมากเกินไป

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กรณีแคดเมียม เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 67 ยืนยันว่า "ยังไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นโรคอิไต อิไต" สำหรับประชาชนและแรงงาน ที่ได้ทำการตรวจร่างกายของประชาชนและแรงงานในพื้นที่ 4 จังหวัดที่พบกากแคดเมียม คือ ตาก สมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม 

"เพราะหากเข้าขั้นโรคอิไต อิไต จะต้องทำงานในเหมือง ในอุตสาหกรรมนั้นแบบไม่ระมัดระวัง ซึ่งในอดีตมี แต่ปัจจุบันโรงงานต่างๆ มีการป้องกันทั้งชุด ทั้งอุปกรณ์หมดแล้ว เพียงแต่หากทำไม่ดีก็อาจพบได้ แต่ไม่ถึงกับสูงจนเกิดอาการเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานโรคอิไต อิไต"รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

เมื่อถามว่าต้องมีอาการบ่งชี้แบบไหนว่าอันตราย นพ.สุรโชค กล่าวว่า มีปัญหาเรื่องไต ไตวาย แต่ปกติไม่เคยเจอแบบนี้ การจะเจอขนาดนี้ต้องได้รับสารมาเยอะพอสมควร แต่นี่ไม่ถึงขนาดนั้น

 

ทำความรู้จักกับโรคอิไตอิไต

ฐานเศรษฐกิจ จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ "โรคอิไตอิไต" ว่ามีที่มาทีไปอย่างไร อาการของโรคและวิธีรักษาทำอย่างไร

โรคอิไตอิไต หรือภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า イタイイタイ病 ส่วนอังกฤษเขียนว่า "Itai-itai disease" เป็นโรคชนิดหนึ่งเกิดจากแคดเมียม

ชื่อโรคอิไตอิไต มาจากภาษาญี่ปุ่น ที่มาจากเสียงร้องของผู้ป่วย คำว่า อิไต-อิไต แปลว่า โอ๊ย โอ๊ย ที่แสดงถึงความเจ็บปวด 

โรคอิไตอิไต พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น แถบแม่น้ำจินสุ เขตโตยามา เมื่อปี พ.ศ. 2493 เนื่องมาจากมีการทิ้งขี้แร่จากการทำเหมืองสังกะสีลงในแม่น้ำสายนี้ 

ขี้แร่นี้มีแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ เมื่อชาวบ้านที่ใช้น้ำจากแม่น้ำหรือได้รับแคดเมียมทางอ้อมจากแม่น้ำก็เกิดป่วยเป็นโรคไต กระดูกผุ เจ็บปวดบริเวณหลังและเอวอย่างรุนแรงมาก และการมีเด็กพิการในอัตราสูงผิดปกติ จึงเป็นที่มาของโรคอิไต-อิไต 

 

สาเหตุโรคอิไตอิไต

มาจากการได้รับแคดเมียมในปริมาณมากเกินไปใน 2 ทาง คือ

1.ทางปาก โดยการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของแคดเมี่ยม เช่น อาหารทะเล

2.ทางจมูก โดยการหายใจเอาควัน หรือฝุ่นของแคดเมี่ยมเข้าไป เช่น ในเหมืองสังกะสี

 

อาการโรคอิไตอิไต

  • ปวดแขน ขา (extremity pain)
  • มีวงแหวนแคดเมียม (yellow ring)
  • ปวดกระดูก(Bone pain)
  • ปวดข้อ (joint pain)
  • มีความผิดปกติที่กระดูกสันหลัง ทำให้มีลักษณะเตี้ย หลัง
  • ค่อม 

อาการระยะสุดท้าย ได้แก่ 

  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด 
  • มีความผิดปกติของเมทาบอลิซึม 
  • โดยส่วนใหญ่ เสียชีวิตจากภาวะไตวาย และการเสียสมดุลของเกลือแร่ (Electrolyte Imbalance)

 

โรคอิไตอิไตมักพบได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. ความเป็นพิษเฉียบพลัน จากการหายใจเอาฝุ่น ละอองไอแคดเมียม แล้วมีอาการภายหลังสัมผัส 2-3 ชั่วโมง โดยมีอาการไอ เจ็บ หน้าอก เหงื่อออก หนาวสั่นคล้ายอาการติดเชื้อทั่วไป มีอาการระคายเคืองอย่างแรงในปอด หายใจลำบาก ไอ และอ่อนเพลีย
  2. ความเป็นพิษแบบเรื้อรัง ผลกระทบต่อทางเดินหายใจ ไตถูกทำลาย ทำให้เกิดเป็นนิ่วในปัสสาวะได้

 

วิธีป้องกัน-ปฐมพยาบาลเมื่อสัมผัส/สูดดมแคดเมียม

  1. หากสูดดม: ให้รีบออกจากพื้นที่ รับอากาศบริสุทธิ์นำส่งแพทย์ทันที
  2. หากสัมผัสกับผิวหนัง: ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกหมดทันที ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน รีบพบแพทย์
  3. หากเข้าตา: ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก รีบพบจักษุแพทย์
  4. หากกลืนกิน /ดื่ม ให้รีบดื่มน้ำตามทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว รีบพบแพทย์
  5. งดเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ติดตามสถานการณ์ สังเกตอาการตนเอง ผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

ผู้ที่ต้องสัมผัสแคดเมียม สามารถป้องกันได้โดย

  • ใส่หน้ากาก เช่น หน้ากาก N95 ป้องกันไอระเหยจากสารเคมีโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการหายใจเอาไอของแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย
  • ใส่ถุงมือตลอดเวลาในขณะปฎิบัติงาน
  • ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายหลังการทำงานทุกครั้ง
  • ประชาชนทั่วไปให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการหากเกิดพิษที่เป็นผลจากแคดเมียม

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสสารแคดเมียมว่า จากข้อมูลทั้ง 4 จังหวัดที่พบกากแคดเมียม คือ ตาก สมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม. ซึ่ง กทม.จะมีเจ้าหน้าที่ของ กทม.ลงไปตรวจ ผลการตรวจร่างกายของประชาชนและแรงงานใน จ.สมุทรสาคร เมื่อมีการตรวจอย่างละเอียด พบว่า มี 4 รายที่พบสารแคดเมียมในเลือดเกินมาตรฐาน ซึ่งไม่มีอาการอะไร 

"ล่าสุดแพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นก็นัดติดตามอาการอย่างต่อเนื่องไปสักระยะ ส่วนกรณีเจอสารแคดเมียมในเลือดจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร ต้องดูปริมาณและการคลุกคลีอยู่กับสารดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน แต่จากการตรวจสอบยังไม่พบถึงขั้นรุนแรง ซึ่งโดยปกติเมื่อไม่มีอาการ ทางแพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้าน และนัดติดตามอาการ เพราะโดยปกติสารเหล่านี้จะขับออกไปทางปัสสาวะได้ กล่าวคือ จะอยู่ในเลือดได้ในช่วงเวลาหนึ่งและจะขับออกทางปัสสาวะ"