ไทยร้อนหนัก สธ. ห่วงเกิด "ฮีทสโตรก" แนะวิธีสังเกตอาการ

28 ก.พ. 2567 | 18:20 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 18:20 น.

ปลัด สธ. เผยปีนี้อุณหภูมิประเทศไทยอาจพุ่งสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส ชี้ กระทบต่อสุขภาพประชาชน เสี่ยงเกิดโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก แนะวิธีป้องกัน สังเกตอาการ พร้อมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น 

28 กุมภาพันธ์ 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าอุณหภูมิปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อนอาจถึง 44.5 องศาเซลเซียส

มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยดูได้จากค่าดัชนีความร้อน ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนความรู้สึกร้อนของร่างกาย จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์ เนื่องจากเมื่อความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้เหงื่อระเหยยากและส่งผลให้รู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริงของอากาศ

หากค่าดัชนีความร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะมีความเสี่ยงเกิดโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคฮีทสโตรก

เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงแต่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม เนื่องจากจะดูดซับความร้อนได้ดี ดื่มน้ำมากๆ และสลับเข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ เช่น ทุก 30 นาที หรือทุกชั่วโมง 

อาการสำคัญของโรคฮีทสโตรค

วิงเวียน อ่อนเพลีย ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น เหงื่อไม่ค่อยออก ผิวร้อน แดง แห้ง หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และดื่มน้ำมาก ๆ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และหากปฐมพยาบาลแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 

ทั้งนี้ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคฮีทสโตรคได้ด้วยการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดนานเกินไป หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่หากต้องการออกกำลังกาย ควรปฏิบัติดังนี้ 

1.ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ 

2.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน 

3.ออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคาร หรือบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท 

4.สวมชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี 

5.ออกกำลังกายเป็นกลุ่ม เพื่อหากมีอาการผิดปกติได้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด