สองผู้คิดค้นวัคซีน mRNA คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2023

03 ต.ค. 2566 | 06:40 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 07:06 น.

สองศาสตราจารย์นายแพทย์ ผู้ค้นพบองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีน mRNA ต้านโควิด-19 และวัคซีนอื่น ๆ ในอนาคต คว้ารางวัลโนเบลสาขาการเเพทย์ประจำปี 2023

 

คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบล ประกาศมอบ รางวัลโนเบลสาขาการเเพทย์ ให้เเก่ ศาสตราจารย์ นพ.ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ ดร. กอตอริน กอริโก (Katalin Koriko) จากมหาวิยาลัยซาแกนส์ ในประเทศฮังการี ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เธอยังเป็นรองประธานอาวุโส บริษัทบิออนเทค อาร์เอ็นเอ ฟาร์มาซูติคอล

“การค้นพบของทั้งคู่ เปลี่ยนความเข้าใจขั้นพื้นฐานเรื่องปฏิกิริยาของ mRNA ต่อระบบภูมิต้านทางของเรา" คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาการเเพทย์ระบุ และว่า ทั้งสองนักวิทยาศาสตร์ช่วยทำให้เกิดอัตราการพัฒนาวัคซีนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในช่วงที่โลกเผชิญกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2023

ศาสตราจารย์ทั้งคู่ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ มาใช้ในทางการแพทย์ โดยในปี 2006 (พ.ศ.2549) ได้ร่วมกันค้นพบว่าการใช้นิวคลิโอไซด์ดัดแปลง ช่วยลดปฏิกิริยาของเซลล์ต่ออาร์เอนเอแปลกปลอมได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เมสเซนเจอร์อาร์เอนเอแปลกปลอมที่ให้เข้าไปจากภายนอกเซลล์จะถูกกลไกต่อต้านไวรัสของเซลล์ตรวจจับ และเมื่อพบอาร์เอนเอแปลกปลอมก็จะกระตุ้นกลไกต่างๆที่จะยับยั้งการแปลรหัสจากอาร์เอนเอและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ฉีดเข้าในร่างกายเพื่อการป้องกันหรือรักษาโรค

การค้นพบดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาวิจัยต่อๆ มาของ ดร.กอริโก และ ดร. ไวส์แมน ที่ทำให้มีการนำสารซูโดยูริดีนมาใช้ในการสร้างเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ และการคิดค้นวิธีการในการทำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอที่มีซูโดยูริดีนให้บริสุทธิ์ เป็นรากฐานสำคัญในการนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-19  ทั้งคู่ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19  ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ได้อย่างรวดเร็ว

ศาสตราจารย์ นพ.ดรู ไวส์แมน และศาสตราจารย์ ดร. กอตอริน กอริโก

“การค้นพบและดัดแปลงโครงสร้างโมเลกุล หรือนิวคลีโอไซด์บางส่วนของเมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ (mRNA) โดยใช้สารซูโดยูริดีน (pseudouridine) ที่เป็นองค์ประกอบของสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอที่พบในธรรมชาติ ทำให้ร่างกายของมนุษย์แทบไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านสาย mRNA ที่ฉีดเข้าไปเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคเลย ทำให้เทคนิคนี้กลายมาเป็นพื้นฐานของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในที่สุด” แถลงการณ์ของคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ระบุ

ทั้งนี้ ตามปกติ การสร้างวัคซีนต้องมีการเพาะเชื้อไวรัสในเซลล์ และบ่อยครั้งที่อาศัยกระบวนการให้ไวรัสเติบโตในไข่ไก่ จากนั้น จึงผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาสูตรวัคซีน แต่เทคนิค mRNA ทำให้กระบวนการดังกล่าวเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเริ่มจากการใช้รหัสพันธุกรรมเล็ก ๆ ที่มีข้อมูลการสร้างโปรตีน เมื่อเลือกโปรตีนไวรัสที่ต้องการอย่างถูกต้องแล้ว ร่างกายมนุษย์ก็จะทำหน้าที่เสมือนโรงงานวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้นกันโรคในที่สุด

นายเเพทย์พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย กล่าวว่าวัคซีน mRNA ถือเป็น "ตัวเปลี่ยนเกม" ในการต่อสู้กับการระบาดของโคโรนาไวรัส และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนหลายล้านคนรอดชีวิตจากโรคร้าย

เมื่อปีพ.ศ. 2564 ศ.ดร.กอริโก และ ศ.นพ.ไวส์แมน เคยคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในสาขาการแพทย์มาแล้วจากผลงานการค้นพบและการวิจัยพัฒนาวัคซีน mRNA โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลนี้จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี