รู้จัก "ไวรัสซิกา" ไทยป่วยแล้ว 110 ราย "หญิงท้อง" เสี่ยงแท้ง

27 ก.ค. 2566 | 15:40 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2566 | 15:45 น.

ทำความรู้จัก "ไวรัสซิกา" หลังสาธารณสุขของไทยรายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยแล้ว 110 รายใน 20 จังหวัดมีแนวโน้มเริ่มสูงขึ้น เตือนหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงเกิดการแท้งหรือทารกเกิดภาวะศีรษะเล็กได้

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทยต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด ล่าสุดนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงสถานการณ์ของโรคนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 19 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 110 รายใน 20 จังหวัด แนวโน้มผู้ป่วยเริ่มสูงขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และสูงสุดในเดือนมิถุนายนจำนวน 30 ราย

ในขณะที่ในเดือนกรกฎาคมนี้ พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อแล้ว 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี 2 ราย พิษณุโลก ระยอง สมุทรสงคราม และตราด จังหวัดละ 1 รายซึ่งจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งหรือทารกเกิดภาวะศีรษะเล็กได้

ทั้งนี้ จากการติดตามหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา ตั้งแต่ปี 2559-2565 จำนวน 241 ราย พบมีการแท้ง 4 ราย เด็กที่คลอดมีภาวะศีรษะเล็กและมีผลบวกต่อไวรัสซิกา 3 รายซึ่งเมื่อได้ติดตามพัฒนาการเด็กจนครบ 2 ปี จำนวน 77 ราย พบมีพัฒนาการผิดปกติ 4 ราย

สำหรับการเฝ้าระวังทารกแรกคลอด 2,187 ราย พบความผิดปกติแต่กำเนิดที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิกา 15 ราย สามารถติดตามพัฒนาการจนครบ 2 ปี ได้ 4 ราย พบความผิดปกติด้านพัฒนาการ 3 ราย ขณะที่การเฝ้าระวังกลุ่มอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย (Guillain Barre' syndrome :GBS) 145 ราย พบสัมพันธ์กับไวรัสซิกา 5 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ทำความรู้จักกับ "ไวรัสซิกา"

โรคซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกาซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลืองสาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกาติดและช่องทางอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์

อาการของโรค

ระยะฟักตัว : โรคไข้ซิกาใช้เวลาเฉลี่ย 4-7 วันหลังโดนยุงกัด (สั้นสุด 3 วันและยาวสุด 12 วัน)

อาการที่พบบ่อย: มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ การรักษาทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด

ทั้งนี้ ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น

การป้องกันโรค

  • ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด วิธีนี้สำคัญที่สุด โดยใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด
  • นอนในมุ้งและปิดหน้าต่าง ปิดประตูหรือใช้มุ้งลวดติดป้องกันยุงเข้าบ้าน
  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือปิดฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อป้องกันน้ำขังอันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  • หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที
  • หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด แต่หากจำเป็นต้องเดินทาง ควรปรึกษาแพทย์และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด