ข่าวดี กรมการแพทย์ เตรียมขยาย "มะเร็งรักษาทุกที่" ไม่ต้องมีใบส่งตัว

15 มิ.ย. 2566 | 14:55 น.

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยข่าวดีโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ เตรียมหารือขยายสิทธิประกันสังคม-ข้าราชการ ยันมีศักยภาพรองรับผู้ป่วย เผย ให้บริการกลุ่มสิทธิบัตรทองตั้งแต่ 1 ม.ค.64 มีคนไข้เข้าร่วมโครงการฯ ราว 4 แสนราย

15 มิถุนายน 2566 พญ.นภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวถึงโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ cancer anywhere ว่า โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาซึ่งจนถึงปัจจุบันมีคนไข้เข้ามาในโครงการประมาณ 300,000-400,000 คน ซึ่งหลาย ๆ คนบ่งบอกว่า รักษาได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องย้อนกลับไปกลับมาเพื่อเอาใบส่งตัว

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการนี้ยังจำกัดที่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ซึ่งทำให้รู้สึกว่า คนไข้ในสิทธิ์อื่น ๆ น่าจะได้รับสิทธิจากโครงการตรงนี้ด้วยจึงจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า คนไข้สิทธิ์อื่น ๆ ควรได้รับด้วย

ทั้งนี้ หากมีการขยายกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวทางสถาบันฯมีศักยภาพเพียงพอเพราะทุกวันนี้มีการคอนแทรกกับโรงพยาบาลเอกชนด้วย รวมถึงโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่จะมีการส่งต่อมารักษาโดยเน้นการทำงานบูรณาการร่วมกัน 

อย่างไรก็ดี ต่อข้อกังวลว่าหากมีการขยายโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ไปยังสิทธิ์อื่น ๆ บุคลากรของสถาบันฯ จะรองรับงานได้ หรือภาระงานที่จะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่นั้น

พญ.นภา กล่าวว่า ตั้งแต่มารับตำแหน่งผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาได้เข้าไปสัมผัสพูดคุยกับบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาล วิชาชีพต่าง ๆ รวมถึงสายสนับสนุน ซึ่งคนทำงานในสถาบันมะเร็ง พร้อมและเข้าใจ

ที่สำคัญรู้สึกถึงความทุกข์ของคนไข้ ของญาติ เพราะกลุ่มนี้เมื่อรู้ว่า ป่วยมะเร็ง เขาต้องมารอหมออีกนานหรือถึงจะได้รักษา ดังนั้น โครงการนี้จึงช่วยบรรเทาความทุกข์ พวกเราเข้าใจ และในองค์กรก็มีการสื่อสารกันหมด มีปัญหาก็คุยกันเพื่อหาทางออก

"ในเรื่องของการหารือขยายไปยังสิทธิ์อื่น ๆ นั้นมีการพูดคุยกันแล้วและในสัปดาห์หน้าจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ทั้งสำนักงานประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ" ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย