เปิดชื่อ 17 โรงพยาบาลเอกชนรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองใน กทม.

07 มิ.ย. 2566 | 03:15 น.
23.0 k

ข่าวดี สิทธิบัตรทอง สปสช. จับมือ 17 รพ.เอกชนนอกระบบบัตรทองร่วมเป็นสถานพยาบาลรองรับส่งต่อรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองใน กทม. จะมีที่ไหนและให้บริการผ่านช่องทางใด คลิกอ่านที่นี่ 

ข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมากกว่า 5 ล้านคน ไม่สอดรับกับจำนวนโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จับมือกับโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. รวม 17 แห่งเพื่อเป็นทางเลือกใหม่กรณีต้องส่งต่อรักษา หากโรงพยาบาลในระบบเตียงเต็มหรือรอคิวนาน 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 5,487,078 คน ไม่รวมประชากรแฝงอยู่ในพื้นที่ ขณะที่ รพ.รับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มีจำกัด

ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิและการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้ ซึ่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 7 กำหนดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นได้ (สถานพยาบาลเอกชนนอกระบบฯ) ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด รวมถึงการรักษาพยาบาลที่มีเหตุสมควร เช่น กรณีภาวะเจ็บป่วยที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการดูแลที่ต้องส่งต่อรักษา เป็นต้น 

โดยเบื้องต้น สปสช.ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมเป็นสถานพยาบาลตามมาตรา 7 รวม 17  แห่ง ซึ่งมีรายชื่อดังต่อไปนี้ 

1.รพ.กล้วยน้ำไท 

2.รพ.ปิยะเวท 

3.รพ.บางนา1 

4.รพ.เพชรเวช 

5.รพ.บางนา5 

6.รพ.มเหสักข์ 

7.รพ.แพทย์ปัญญา 

8.รพ.มิตรประชา 

9.รพ.ศรีสวรรค์ กรุงเทพ 

10.รพ.พีเอ็มจี 

11.รพ.สุขสวัสดิ์อินเตอร์ 

12.รพ.อินทรารัตน์ 

13.รพ.นวมินทร์ 

14.รพ.วิภารามปากเกร็ด 

15.รพ.บางโพ 

16.รพ.กรุงเทพสนามจันทร์

17.รพ.บางไผ่ 

ทั้งนี้ จากผลความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในครั้งนี้ จะทำให้ระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม.สามารถขยายจำนวนเตียงสำรองเพิ่ม 582 เตียง เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยใน

พร้อมกันนี้ สปสช.ได้ปรับแนวทางการให้บริการใหม่ ครอบคลุมการรับส่งต่อทั้งกรณีบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จากเดิมที่จำกัดเฉพาะรับส่งต่อผู้ป่วยในเท่านั้น พร้อมรับส่งต่อการบริการเฉพาะด้าน อาทิ ผู้ป่วยสวนหัวใจ เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพก ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่าตัดเส้นฟอกไต เป็นต้น

การเบิกจ่ายค่าบริการ

สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรที่รับส่งต่อผู้ป่วยสามารถส่งข้อมูลมาเบิกจ่ายมาที่ สปสช. ได้โดยตรง 

ช่องทางการรับบริการ

ผู้ป่วยสามารถโทร. "สายด่วน สปสช. 1330 กด 9" เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ดำเนินการประสานหาเตียงต่อไปได้