WHO เตือนอุณหภูมิโลกสูงขึ้นทำให้โรคที่ยุงเป็นพาหะระบาดหนัก

18 พ.ค. 2566 | 06:56 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2566 | 07:28 น.

โลกร้อนกับโรคระบาดที่ยุงเป็นพาหะมีความสัมพันธ์กัน WHO เตือน อุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้นไม่เพียงเอื้อให้ยุงขยายพันธุ์ แต่พวกมันยังกระหายน้ำและอยากดูดเลือดบ่อยขึ้น!

 

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและความชื้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้ ยุง เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ขณะที่มีการวิจัยใหม่ๆที่แสดงให้เห็นว่า แม้ในสภาพอากาศที่แห้ง ยุงก็ยังสามารถผสมพันธุ์ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สภาพอากาศที่แห้งจะส่งผลให้ยุงกระหายน้ำ และเมื่อพวกมันขาดน้ำ ยุงก็ต้องการที่จะดูดเลือดบ่อยขึ้น

การศึกษาวิจัยของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และการขยายตัวของเมือง เป็นสาเหตุหลักบางประการที่อยู่เบื้องหลังการระบาดของไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก เชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ที่ระบาดอยู่ทั่วโลกในเวลานี้

การศึกษาดังกล่าวเปิดเผยว่า การติดเชื้อที่เกิดจากโรคที่มียุงเป็นพาหะ และระบาดได้ดีในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นกึ่งเขตร้อน มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีรายงานที่ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากราว 500,000 รายในปีพ.ศ.2543 เป็น 5,200,000 รายในปี 2562 และในความเป็นจริง แนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เมื่อพวกมันขาดน้ำ ยุงก็ต้องการที่จะดูดเลือดบ่อยขึ้น

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ประชากรทั่วโลกประมาณครึ่งหนึ่งกำลังเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดที่แพร่จากยุงไปสู่มนุษย์ โดยในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อประมาณ 100 ถึง 400 ล้านคน

รามัน เวลายุธัน หัวหน้าหน่วยของโครงการการควบคุมโรคเขตร้อนที่ผู้คนมักละเลยของ WHO และทำงานประสานกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้เลือดออกและไวรัสชนิดมีแมลงเป็นพาหะโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีประมาณ 129 ประเทศที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออก และเป็นโรคเฉพาะถิ่นในกว่า 100 ประเทศ

“เฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ โรคไข้เลือดออกกำลังเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ สู่ประเทศต่างๆ เช่น โบลิเวีย เปรู และปารากวัย อยู่ในเวลานี้” หัวหน้าหน่วยของ WHO กล่าว

"สิ่งนี้ทำให้เรากังวลอย่างมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญ ที่เอื้อให้เกิดการแพร่กระจายของยุงพาหะไปในทิศทางตอนใต้ เมื่อผู้คนเดินทาง ไวรัสก็จะไปกับพวกเขาตามธรรมชาติ” และแนวโน้มนี้ อาจจะดำเนินต่อไปทั่วโลก

เวลายุธัน เผยว่า WHO ได้รับรายงานจากประเทศซูดานว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงถึงกว่า 8,000 ราย และเสียชีวิตถึง 45 ราย

มีรายงานการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในเอเชียเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ WHO ระบุว่า มีการเพิ่มขึ้นของไข้เลือดออกในทวีปเอเชียด้วยเช่นกัน อาทิ ในกัมพูชา เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์

ส่วนมากไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่บางรายอาจมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ และมีผื่นตามร่างกาย อาการของผู้ป่วยมักจะหายไปในเวลาสองถึงสามสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ไข้เลือดออกอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง

โลกร้อนเอื้อต่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของยุง

“นี่เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงต่อโลก เพราะปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่มีไวรัสไข้เลือดออกที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกันแพร่ระบาดตลอดทั้งปี” เวลายุธันกล่าว และว่า “โรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มีทางรักษา และวัคซีนก็เพิ่งเข้าสู่ตลาดเมื่อไม่นานมานี้ด้วย”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับวัคซีนไข้เลือดออก มีวัคซีนอยู่ 1 ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้มีการแจกจ่ายแล้วในประมาณ 20 ประเทศ นับเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีสำหรับผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วหนึ่งครั้ง ขณะเดียวกัน มีวัคซีนอีก 2 ชนิดกำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง และมีอีก 2 ตัวยาที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา

จับตาไวรัสชิคุนกุนยา

ในส่วนของไวรัสชิคุนกุนยาที่เป็นสาเหตุของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แพร่กระจายโดยยุงลายและพบได้ในเกือบทุกทวีปนั้น จนถึงปัจจุบันนี้ มีรายงานตรวจพบผู้ป่วยจากเชื้อดังกล่าวในประมาณ 115 ประเทศ โดยโรคนี้อาจทำให้เกิดความพิการเรื้อรังและส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ไดอานา โรฮาส อัลวาเรซ หัวหน้ากลุ่มเทคนิคของ WHO ด้านไวรัสซิกาและไวรัสชิคุนกุนยา และเป็นหัวหน้าร่วมของโครงการระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับอาร์โบไวรัส กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ในอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 50,000 รายในปี2565 เป็น 135,000 รายในปีนี้ (2566) ขณะที่ ไวรัสเริ่มแพร่กระจายออกจากพื้นที่ที่ไวรัสนี้ถือเป็นโรคประจำถิ่นในอเมริกาใต้ ไปยังภูมิภาคอื่นๆ แล้ว

ทั้งนี้ อาร์โบไวรัสแพร่กระจายโดยสัตว์ขาปล้อง ซึ่งรวมถึงยุง เห็บ ตะขาบ กิ้งกือ และแมงมุม

"ขณะนี้เรากำลังเห็นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังพื้นที่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนตัวเลขของประเทศที่เริ่มมีการแพร่กระจายของยุงก็เพิ่มสูงขึ้น และประเทศที่มีประชากรยุงตั้งรกรากอยู่แล้วก็เริ่มมีสถานการณ์ที่น่ากังวลด้วย”โรฮาส อัลวาเรซ กล่าว

เมื่อเทียบกับไข้เลือดออกและชิคุนกุนยา ไวรัสซิกามีความคล้ายกันเพราะแพร่กระจายโดยยุงลาย ซึ่งมักจะกัดตอนกลางวัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างจากสองไวรัสข้างต้น นั่นคือ ไวรัสซิกาสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และถูกส่งต่อจากแม่สู่ลูกในระหว่างตั้งครรภ์ได้

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนในสิงคโปร์ออกพ่นยากำจัดยุงเพื่อป้องกันโรคระบาดที่ยุงเป็นพาหะ

ในระหว่างช่วงเดือนตุลาคม2558 ถึงเดือนมกราคม 2559 ประเทศบราซิลรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกามากกว่า 1.5 ล้านคน และทารกมากกว่า 3,500 คนเกิดมาพร้อมศีรษะที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า ภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด

การระบาดเป็นวงกว้างของโรคที่มียุงเป็นพาหะได้แพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของทวีปอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือแล้ว รวมถึงเกาะหลายแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แม้ว่าหลังจากปี 2560 รายงานผู้ติดเชื้อจะมีจำนวนลดลง แต่ในแต่ละปี ก็ยังมีผู้ติดเชื้อราว 30,000 ถึง 40,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกา

เมื่อปีที่ผ่านมา  WHO ได้เปิดตัวโครงการ Global Arbovirus Initiative เพื่อจัดการกับอาร์โบไวรัส ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หรือเพิ่งกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้ง ที่น่ากังวลคือมันมีแนวโน้มสามารถที่จะระบาดเป็นวงกว้างและแพร่กระจายไปทั่วโลกได้ โดยแผนงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อม การคัดกรองอย่างรวดเร็ว และการรับมือกับการระบาด ตลอดจนการพัฒนายาและวัคซีนใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการในระดับชุมชน ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้ชุมชนทั้งหลายเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทั้งที่อยู่ภายในบ้านและรอบ ๆ บ้าน รวมทั้งใช้ยากำจัดยุงเพื่อปกป้องตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของไวรัสที่อาจทำให้ถึงตายนี้โดยด่วนแล้ว

 

ข้อมูลอ้างอิง

WHO Warns Climate Change Causing Surge in Mosquito-Borne Diseases