จากกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม อาย 36 ปี ลงวันที่ 25 เม.ย. 66 ข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” พร้อมของกลาง ขวดไซยาไนด์
โดยญาติของ นางสาวศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย อายุ 32 ปี เหยื่อผู้เสียชีวิต เชื่อว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรม โดยมี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ แอม ภรรยาของตำรวจระดับรองผกก. ในพื้นที่ จ.ราชบุรี เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายดังกล่าว จากของกลาง ไซยาไนด์ ที่ยึดได้เป็นหลักฐานสำคัญ
เนื่องจาก ผลการชันสูตร นางสาวศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย พบว่ามีสารพิษอยู่ในเลือดเป็นกลุ่มไซยาไนด์ นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบเหยื่อผู้เสียชีวิตอีกร่วม 10 ราย ซึ่งทุกคนจะมีอาการอาเจียนรุนแรงก่อนเสียชีวิต เช่นเดียวกับนางสาวศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย โดยส่วนใหญ่ แพทย์ระบุความเห็นว่า เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจเฉียบพลัน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบเรื่องพิษในร่างกาย และทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัย
เหตุการณ์ดังกล่าว เรามาทำความรู้จัก "สารไซยาไนด์ " คืออะไร มีพิษรุนแรงต่อร่างกายแค่ไหน
“สารไซยาไนด์” เป็นสารพิษอันตราย สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ จึงถูกใช้ในการประหารนักโทษระหว่างสงคราม “ไซยาไนด์”ที่ควรรู้จักมี 2 ตัวคือตัวหนึ่งเป็นของแข็ง เกลือไซยาไนด์ ซึ่งเป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปรแตสเซียม ไซยาไนด์ และอีกตัวมีสถานะเป็นก๊าซคือ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา เมื่อเอากรด เช่นกรดเกลือ หรือกรดกำมะถัน ผสมกับเกลือไซยาไนด์
“สารไซยาไนด์” รูปแบบที่เป็นพิษคือรูปอิสระหรือไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide, HCN) อาการของพิษเฉียบพลันของไซยาไนด์คือ หายใจติดขัด ชักและหมดสติ อวัยวะที่ถูกกระทบคือระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต และระบบหัวใจ ระดับของไซยาไนด์ที่เป็นพิษ (lethal dose) ต่อมนุษย์นั้นคือ 0.5–3.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่น้อยมากๆ
นอกจากนี้ ยังพบได้ทั่วไปในพืชหลากหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง ข้าวชนิดต่างๆ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรน์ ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ อ้อย แอบเปิ้ล เผือก หน่อไม้ เมล็ดอัลมอล เชอรี่ พีช มะม่วง มะละกอ ฝรั่ง มะนาว เป็นต้น
อาการเมื่อได้รับ “สารไซยาไนด์”
ผู้ป่วยมักจะเริ่มปรากฏมีอาการหลังจากได้ “ไซยาไนด์” ในเวลาสั้นๆ เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หมดสติ ชัก และอาจจะเสียชีวิตภายในเวลา 10 นาที ในรายที่รุนแรงน้อยกว่าจะกดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจ ภาวะเป็นกรดในเลือด (metabolic acidosis) จะปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา ตรวจร่างกายพบผู้ป่วยตัวแดง สีบริเวณเยื่อบุแดงคล้ายคนปกติ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยหยุดหายใจก็ตาม
การรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับ “สารไซยาไนด์”
การรักษาแบบประคับประคอง
ระวังเรื่องการหายใจ ถ้าผู้ป่วยมีภาวะหายใจล้มเหลวต้องช่วยหายใจ
การรักษาที่จำเพาะ
แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ทำให้ร่างกายมี methemoglobin โดยใช้ sodium nitrite เพื่อให้ ferric ion ใน methemoglobin แย่ง “ไซยาไนด์” ที่จับอยู่กับ ferric ion ในโครโมโซม เกิดเป็น cyanomethemoglobin cytochrome จะกลับมาทำงานปกติต่อ
ขั้นต่อไปใช้ sodium thiosulfate เพื่อทำให้เกิด sodium thiocyanate และถูกขับออกจากร่างกายทางไตต่อไป
ขนาด sodium nitrite 6 mg/kg หรือ 300 mg ในผู้ใหญ่ (3% sodium nitrite 10 ml) ให้ทางหลอดเลือดดำช้าๆ sodium thiosulfate 412.5 mg/kg หรือ 12.5 g ในผู้ใหญ่ (25% sodium thiosulfate 50 ml) ให้ทางหลอดเลือดดำหลังจากให้ sodium nitrite
ข้อระวังการให้ยาต้านฤทธิ์ การให้ sodium nitrite ทำให้เกิด methemoglobin ซึ่งทำให้ภาวะพร่อง oxygen เลวลงในระยะสั้นๆ ช่วงแรก ขนาดของ sodium nitrite จะต้องเหมาะสมไม่มากจนเกินไป การปรับขนาดนอกจากน้ำหนักตัวจะต้องปรับลดลงตามขนาดของระดับ hemoglobin ด้วย
ที่มา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย