“สงกรานต์ 2566” เล่นน้ำอย่างไร ไม่เสี่ยง “ปอดบวม”

12 เม.ย. 2566 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 12:07 น.

เตือนภัยเล่นน้ำ “สงกรานต์ 2566” นานเกินไป อุณหภูมิเปลี่ยน ร้อนๆ หนาวๆ ตลอดเวลา น้ำไม่สะอาด ปนเปื้อน เสี่ยงเป็น “ปอดบวม”

กิจกรรมสำคัญหนึ่งนอกเหนือจากการทำบุญ สรงน้ำพระ สรงน้ำผู้ใหญ่ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล การสาดน้ำ เล่นน้ำถือเป็นประเพณีปฏิบัติของ “เทศกาลสงกรานต์” แต่การจะเล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัย ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุต่อเนื่องหลายวัน อาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันเสี่ยงที่จะติดเชื้อทางเดินหายใจ ป่วยง่าย รวมถึงคุณภาพน้ำที่นำมาเล่น สะอาด ปราศจากเชื้อโรค

นายแพทย์ธนกร ทรรศนียศิลป์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การเล่นน้ำเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอาจทำให้มีความเสี่ยงป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เพราะการเล่นน้ำทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจมากขึ้น เมื่อร่างกายเปียกชื้นตลอดทั้งวัน แล้วเจอกับสภาพอากาศร้อนจัด

“สงกรานต์ 2566” เล่นน้ำอย่างไร ไม่เสี่ยง “ปอดบวม”

จะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ การต้องอยู่ในที่ที่มีคนเยอะๆ และเล่นน้ำที่ไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อน จะทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย จนทำให้เกิดอาการป่วยตามมา เช่น ร้อน ๆ หนาว ๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว หากยังฝืนเล่นต่อไปหรือไม่ได้รักษาอย่างถูกต้องจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและพัฒนาเป็น “โรคปอดอักเสบ” ตามมาได้

“โรคปอดอักเสบ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ปอดบวม" เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมของปอด ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบอาจมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปมักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ

อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย แต่ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้ อาการของโรคจะรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือมีภูมิต้านทานต่ำจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้” นายแพทย์ธนกร กล่าว

นายแพทย์ธนกร ทรรศนียศิลป์

สำหรับการเล่นน้ำปลอดภัยห่างไกลโรค ผู้ที่จะเล่นน้ำช่วงสงกรานต์ไม่ควรเล่นน้ำต่อเนื่องกันนานจนเกินไป หากเป็นผู้ใหญ่ไม่ควรที่จะเล่นน้ำติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง ส่วนเด็กเล็กไม่ควรเล่นติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งการเล่นน้ำทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จะทำให้อุณหภูมิร่างกายปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา หากพักผ่อนน้อยจะทำให้ป่วยได้ง่าย ที่สำคัญในช่วงนี้มีอากาศร้อนจัดไม่ควรผสมน้ำแข็งลงไปในน้ำที่ใช้เล่น

เพราะอุณหภูมิที่ต่างกันเกินไปของน้ำกับแสงแดด อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกได้ และทำให้ป่วยได้ง่ายกว่าการใช้น้ำอุณหภูมิปกติ ส่วนน้ำที่นำมาเล่นควรเป็นน้ำสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่อาจมากับน้ำ หลังจากเล่นน้ำเสร็จแล้ว ควรรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย แต่หากใครเล่นน้ำแล้วมีอาการไข้หวัดแล้วยังไม่หายภายใน 2 วัน ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตามปัจจุบันโรคปอดอักเสบสามารถป้องกันได้และลดความรุนแรงรวมถึงภาวะแทรกซ้อน ด้วยวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ควรฉีดในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำหน้าที่ได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง

โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับแข็งและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยที่มีน้ำในไขสันหลังรั่วซึม ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคปอดอักเสบได้เป็นอย่างดี