จากกรณีท่อบรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว หายไปอย่างปริศนาจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีการประกาศตามหาและให้รางวัลสำหรับผู้พบเบาะแสเป็นเงินทั้งสิ้น 1 แสนบาท ข่าวนี้ทำให้โซเชียลตื่นตระหนกพร้อมความกังวลใจเพราะสารกัมมันตรังสีดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว หากสารกัมมันตรังสีภายในออกมาจากท่อเหล็กที่ห่อหุ้มเอาไว้
ด้วยเหตุนี้ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 14-21 มีนาคม 2566 พบว่า ข้อความที่เกิดขึ้นทั้งหมดมากกว่า 12,000 ข้อความ และมีเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 7,000,000 เอ็นเกจเมนต์ จากผู้ใช้งานทั้งสิ้น 2,700 แอคเคาต์ เฉลี่ยในช่วงระยะเวลาการเก็บข้อมูลมีเอ็นเกจเมนต์ต่อวันสูงถึง 870,000 ต่อวัน
ข้อความส่วนมากเกิดขึ้นบน Facebook เป็นหลักคิดเป็น 61.56% ตามมาด้วย Twitter (17.7%), YouTube (10.26%) และช่องทางอื่นๆ (10.48%)
เปิดไทม์ไลน์ 'ซีเซียม-137' สารกัมมันตรังสีอันตราย
มีการนำเสนอข่าวผ่าน Bugaboo.tv เป็นที่แรกในช่วง 0.00 นาฬิกาของวันที่ 14 มีนาคม ใจความว่า ‘ประเด็นเด็ด 7 สี - เกิดเหตุ ซีเซียม 137 ซึ่งเป็นวัตถุกัมมันตรังสี หายออกไปจากโรงผลิตไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่จังหวัดปราจีนบุรี ขณะที่เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติวอนร้านรับซื้อของเก่าโรงหลอม หากพบหรือรับซื้อไว้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ อย่าแกะภาชนะห่อหุ้ม เพราะเป็นอันตรายต่อชีวิต’ ซึ่งเพียงวันแรกของการเสนอข่าว ชาวโซเชียลต่างให้ความสนใจมากถึงเกือบ 1 ล้านเอ็นเกจเมนต์!
หลังจากนั้น ข่าวค่อนข้างเงียบหายไปจากโซเชียลมีเดีย คอมเมนต์จากชาวโซเชียลบ้างก็เกิดความสงสัยว่าทำไมข่าวนี้ยังไม่เป็นวาระแห่งชาติเนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก หรือสื่อที่นำเสนอข่าวนี้น้อยกว่าข่าวดาราเลิกกันด้วยซ้ำ จนกระทั้งวันที่ 19 มีนาคม ข่าวนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เนื่องจากค้นพบ #ซีเซียม-137 แล้วที่โรงหลอมเหล็กของบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ในสภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่หลี่ยม เจ้าหน้าใช้เครื่องมือตรวจจับรังสีได้ทันเวลาก่อนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ในวันนี้มีการพูดถึงข่าวดังกล่าวมากกว่า 600,000 เอ็นเกจเมนต์ และกราฟการพูดถึงได้ขึ้นสูงสุดในวันที่ 20 มีนาคม กวาดเอ็นเกจเมนต์รวมเกือบ 4,000,000 เอ็นเกจเมนต์ ถือว่าชาวโซเชียลให้ความสนใจมากขึ้นเกือบ 7 เท่า ซึ่งคอนเทนต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์ดีมาก คือ คลิปสรุปข่าวทั้งหมดบนช่องทาง TikTok จากผู้ใช้งานทั่วไป และคลิปที่นำเสนอแนวทางป้องกันตัวสำหรับคนที่มีโอกาสสัมผัสซีเซียม-137 หรืออยู่ในละแวกใกล้เคียงในจังหวัดปราจีนบุรี หากพบอาการตามในคลิป ให้รีบไปพบแพทย์
ความกังวลและข้อสงสัยแพร่กระจายไปในทุกช่วงอายุ
ถึงแม้จะมีประกาศข่าวยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่าควบคุมไม่ให้สารกัมมันตรังสีแผ่ออกไปภายนอก พร้อมแสดงภาพทดสอบระบบวัดสารกัมมันรังสีด้านนอกเป็นปกติ ในวันที่ 20 มีนาคม พร้อมภาพยืนยันว่าได้ทำการซีลปิดระบบ ห้องที่เก็บบิ๊กแบ็ค ฝุ่นปนเปื้อนซีเซี่ยม-137 เรียบร้อยแล้ว ไม่มีผลกระทบกับประชาชนด้านนอกแน่นอน แต่ชาวโซเชียลทุกเพศ ทุกวัย ก็ยังกังวลกับเรื่องดังกล่าวอยู่ เช่น ตัวอย่างโพสต์บน Instagram ของคุณบุ๋ม ปนัดดา ซึ่งเป็นแคปเจอร์หน้าจอการคุยกับลูกสาวโดยตั้งแคปชั่นว่า ‘เมื่อลูกสนใจข่าว #ซีเซียม137 แล้วบอกลูกว่าเจอแล้ว แต่ไม่กล้าบอกเต็มปากว่า เจอแบบไหน? ปลอดภัยรึเปล่า? 😅’ หรือข้อความจากผู้ใช้งานทาง Twitter ใจความว่า ‘เรื่องสารกัมมันตรังสีที่หายไปและถูกเอาไปหลอมในโรงงานหลอมเหล็กเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และจะส่งผลกระทบถึงสุขภาพและร่างกายของคนแถบนั้นอาจจะทั้งอำเภอหรือทั้งจังหวัดว่าฝุ่นรังสีกระจายไปถึงไหน แต่รัฐบาลคือเฉยมากเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น’ หรือแม้กระทั่งเพจสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าวเอง ก็ออกมาโพสต์รูปถามถึงการเก็บฝุ่นแดงปนเปื้อนซีเซียม-137 ว่า ‘อยู่ในระบบปิดแน่นะวิ’ เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะช่วงอายุไหน หรือ Generation ใด ก็ล้วนกังขาในเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในระยะยาวทั้งสิ้น
ประชาชนต้องการข้อมูลโปร่งใส ชัดเจน และรวดเร็ว
การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลกระทบ และแนวทางการป้องกัน คือ สิ่งที่ชาวโซเชียลต้องการทราบมากที่สุดในขณะนี้ เช่น การฟุ้งกระจายเกิดขึ้นจริงไหม ไกลแค่ไหน พื้นที่ไหนควรเฝ้าระวัง อาการที่อาจจะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง รัฐมีแผนการเยียวยาอย่างไร
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ ความชัดเจนและความรวดเร็วในการสื่อสารของภาครัฐ อีกทั้งยังมีการสื่อสารเรื่องการบริหารจัดการหลังเกิดเหตุที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กลับมา เนื่องจากในตอนนี้ชาวโซเชียลหลายกลุ่มยังได้ข้อมูลแบบกระจัดกระจาย และบางข้อมูลอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งชาวโซเชียลก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีประกาศอะไรเพิ่มเติมจากผลกระทบของวิกฤตในครั้งนี้ และจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้หรือไม่ในอนาคต