ฝุ่น PM 2.5 ฝุ่นจิ๋วแต่อันตรายมหาศาล สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะ หอบหืด หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ อันตรายที่สุดอาจถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด
สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ล่าสุด วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ สรุปภาพรวมปริมาณ PM 2.5 เวลา 07.00 น. ในประเทศไทย พบเกินค่ามาตรฐานใน จ.นนทบุรี, จ.เชียงใหม่, จ.พะเยา, จ.น่าน, จ.ลำพูน, จ.ลำปาง, จ.แพร่, จ.อุตรดิตถ์, จ.สุโขทัย, จ.ตาก, จ.พิษณุโลก, จ.พิจิตร, จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสงคราม
องค์กรอนามัยโลก (WHO) ตั้งค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศ ว่า หากมีเกินกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยกำหนดอันตรายของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากการวิจัยประเมินว่าเกือบครึ่งหนึ่งของ "ภาวะตายคลอด" ที่ระบุว่าอาจเชื่อมโยงกับการสัมผัสกับมลพิษ PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Nature Communications ใช้ข้อมูลการตายคลอดและมลพิษทางอากาศระหว่างปี 2541-2559 จาก 54 ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง (LMIC) รวมถึงปากีสถาน อินเดีย และไนจีเรีย ข้อมูลนี้ใช้เพื่อประเมินจำนวนการตายคลอดที่เกิดจากการสัมผัส PM2.5 ใน 137 ประเทศ LMIC
มารดาเกือบทุกคนที่สัมผัสกับระดับ PM 2.5 สูงกว่าระดับมาตรฐาน โดยมีสถิติการตายคลอดสูงถึง 2.09 ล้านคนในปี 2558 และในจำนวนทั้งหมดนี้ มีมารดา 45% หรือ ประมาณ 950,000 คน เกิดภาวะตายคลอดจากการสัมผัส PM 2.5 เกินระดับ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ภาวะตายคลอด ถูกอธิบายว่าเป็น “โศกนาฏกรรมที่ถูกทอดทิ้ง” ในรายงานปี 2563 ที่เผยแพร่โดย Unicef ขณะที่จำนวนการตายคลอดทั้งหมดลดลงจาก 2.31 ล้านคนในปี 2553 เป็น 1.93 ล้านคนในปี 2562 นักวิจัยกล่าวว่ามลพิษทางอากาศที่ลดลงในบางประเทศ เช่น จีน อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการลดลงครั้งนี้ นักวิจัยประเมินว่าการลดมลพิษทางอากาศให้เหลือระดับ 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ในปัจจุบัน จะสามารถป้องกันการตายคลอดได้ 710,000 รายต่อปี
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าในขณะที่จำนวนการตายคลอดทั่วโลกลดลง แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของ ประเทศ LMIC ที่ประเมินไว้ไม่ได้ลดลง พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า อัตราการลดลงของการตายคลอดนั้นช้ากว่าการลดลงของการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
ส่วนประเด็น มลพิษทางอากาศอาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้อย่างไรนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่นักวิจัยกล่าวว่าอนุภาคมลพิษที่ผ่านรกอาจทำให้เกิด ความเสียหายของตัวอ่อน และอาจเป็นอันตรายต่อรกด้วย มลพิษทางอากาศยังจำกัดความสามารถของร่างกายของมารดาในการส่งผ่านออกซิเจนไปยังทารกในครรภ์
ข้อมูล : nature.com , theguardian